อย่างไรคือการคิดพิจารณาธรรม
ผู้ฟัง คำว่า “กาย” ก็เป็นปรมัตถ์ ไม่ใช่บัญญัติ
ท่านอาจารย์ ต้องมีลักษณะ เพราะฉะนั้น สติปัฏฐานจะระลึกที่ลักษณะของสภาพธรรม ไม่ใช่ชื่อของสภาพธรรม
ผู้ฟัง สมมติว่าเรานึกถึงผม
ท่านอาจารย์ นึกถึงเป็นเราหรือเปล่าที่นึก ความจริงเป็นเราหรือเปล่า
ผู้ฟัง เป็นวิตักกะ
ท่านอาจารย์ เรียกชื่อค่ะ แต่ลักษณะจริงๆ ที่ไม่ใช่เราคืออะไร
ผู้ฟัง ก็ต้องพิจารณาผม ผม ผม อย่างเดียว
ท่านอาจารย์ ไม่มีลักษณะปรากฏที่เป็นผมให้รู้ เพียงแต่คิด การอบรมเจริญปัญญาสามารถจะรู้ความจริงของนามธรรม และรูปธรรม วิปัสสนาญาณแรกคือ นามรูปปริจเฉทญาณ หรือจะใช้คำว่า สังขารปริจเฉทญาณ ก็ได้ เพราะสังขารมีทั้งนามธรรม และรูปธรรม
เพราะฉะนั้น ปัญญาก็สามารถประจักษ์ลักษณะที่ต่างกันของนามธรรม และรูปธรรม ไม่มีบัญญัติ นามรูปปริจเฉทญาณเป็นปัญญาที่รู้ลักษณะของนามธรรม และรูปธรรม โดยประจักษ์ความเป็นธรรม ขณะนั้นกำลังคิด ใช่ไหมคะ
ผู้ฟัง ก็เป็นของจริง
ท่านอาจารย์ ถามว่า ขณะนั้นกำลังคิดใช่ไหม
ผู้ฟัง ก็คิด ถึงจะพูดได้
ท่านอาจารย์ สภาพคิดมีจริงหรือเปล่า
ผู้ฟัง มีจริง
ท่านอาจารย์ เพราะฉะนั้น สภาพคิดเป็นเราหรือเปล่า
ผู้ฟัง ถ้าไม่มีเรา แล้วจะเอาอะไรคิด
ท่านอาจารย์ ถ้าไม่มีสภาพคิด เราจะมีไหม จะไปยึดถือสภาพคิดว่าเป็นเราคิดได้ไหม ถ้าไม่มีสภาพคิด
ผู้ฟัง ถ้าไม่มีสภาพคิด ก็ไม่มีเรา
ท่านอาจารย์ จะไปยึดถือสภาพคิดว่าเป็นเราได้ไหม ถ้าไม่มีสภาพคิด เพราะฉะนั้น ที่มีจริงๆ คือมีคิด แต่คิดไม่ใช่เรา
เพราะฉะนั้น ต้องรู้ความจริง จึงไม่มีเรา แต่ถ้าไม่รู้ ก็เป็นเราไปโดยตลอด กี่ภพกี่ชาติ ก็เป็นเรานั่นแหละ แล้วเมื่อไรจะได้ฟังพระธรรม เมื่อไรจะค่อยๆ เข้าใจ เมื่อไรจะค่อยๆ อบรมความรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่มีจริงๆ ในชีวิตประจำวัน เห็นจริงๆ ว่า ใครก็ไม่สามารถบังคับบัญชาได้ คิดก็เกิดเพราะเหตุปัจจัย เห็นก็เกิดเพราะเหตุปัจจัย ขณะที่กำลังนั่งทีนี้ทั้งหมด ทุกขณะเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย