นิพพาน ดับกิเลสได้


    การอบรมเจริญปัญญา ตั้งแต่ขั้นการฟัง เพื่อละความไม่รู้ เพื่ออบรมปัญญา ที่สามารถที่จะเห็นนามธรรม และรูปธรรม ตามความเป็นจริง จนสามารถที่จะละความติดข้อง จึงจะประจักษ์แจ้งในธาตุอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งต่างกับธาตุ ที่เป็นนามธรรม และรูปธรรมที่เกิดขึ้น

    เพราะฉะนั้นสภาพของนิพพานอย่างเดียว ที่สามารถจะทำให้ดับกิเลสได้ เมื่อปัญญาสามารถรู้แจ้งลักษณะของนิพพาน โลภะติดข้องในทุกสิ่งทุกอย่างที่มี โลภะติดในกุศลได้ไหมคะ กุศลของเรา เรามีกุศลเยอะ เราอยากจะทำกุศลมากๆ ด้วยความต้องการ

    เพราะฉะนั้นธรรมทั้งหมดสามารถเป็นที่ตั้งของโลภะ เป็นที่ยึดถือของโลภะได้ เว้นนิพพาน ถ้าไม่มีนิพพาน ดับกิเลสใดๆ ไม่ได้เลยทั้งสิ้น แต่เพราะเหตุว่านิพพานเป็นปรมัตถธรรมที่มีจริง แต่ว่าจะสามารถรู้แจ้งได้ด้วยปัญญาที่ถึงขั้นที่สามารถจะรู้นิพพานได้ จึงจะมีนิพพานเป็นอารมณ์ ขณะใดขณะนั้นก็จะเป็นโลกุตตรจิตที่ดับกิเลส ได้แก่โสตาปัตติมรรคจิต ซึ่งเป็นโลกุตตรกุศลระดับแรก เป็นปัจจัยให้เกิดโสตาปัตติผลซึ่งเกิดสืบต่อทันที กุศลใดๆ ที่ทำ ไม่สามารถที่จะให้ผลทันทีได้เว้นโลกุตตรกุศล เพราะว่าจิตนี้เกิดดับสืบต่อไม่มีระหว่างคั่นเลย จิตขณะนี้ดับเป็นปัจจัยให้จิตขณะต่อไปเกิด ถ้าเป็นกุศลจิตที่ได้กระทำ เช่น ในวันนี้ที่ได้ศึกษาธรรม และเข้าใจธรรมด้วย เป็นกุศลที่ประกอบด้วยปัญญา ยังไม่ได้ให้ผลทันที กุศลทั้งหลายไม่ได้ให้ผลทันทีที่กุศลนั้นดับไป เว้นโลกุตตรกุศล คือเวลาที่โสตาปัตติมัคคจิตเกิด และดับไป โสตาปัตติผลจิตต้องเกิดสืบต่อทันที ไม่มีระหว่างคั่นเลย เพราะว่าโสตาปัตติมรรคจิตเป็นการดับกิเลส เพราะฉะนั้นจึงไม่ใช่เป็นจิตที่จะทำให้เกิดผลคือปฏิสนธิ โสตาปัตติผลจิตไม่ได้ทำกิจปฏิสนธิ เหมือนอย่างกับวิบากของกุศลอื่นๆ ที่ทำกิจปฏิสนธิได้ ทำกิจภวังค์ได้

    แต่ว่าพวกโลกุตตรวิบากซึ่งเป็นผลของโลกุตตรกุศล ไม่ได้ทำกิจที่จะทำให้เกิดปฏิสนธิ แต่ดับการเกิดในอบายภูมิ และดับการเกิดจนกระทั่งไม่มีการเกิดอีกเลย เมื่อถึงความเป็นอรหัตมรรค มีจริงนะคะ ต้องอบรม เพราะว่าผู้ที่ได้ประจักษ์แจ้ง ลักษณะของสภาพธรรมที่เป็นอริยสัจจะ มีมากมายนับไม่ถ้วนในครั้งอดีตกาล ท่านเหล่านั้นก่อนที่จะถึงระดับนั้น ก็เหมือนเรานะคะ จากความไม่รู้ ก็ค่อยๆ รู้ ค่อยๆ รู้ จนกระทั่งถึงระดับขั้นที่รู้แจ้งอริยสัจธรรมได้ จากความเป็นปุถุชน ก็สู่ความเป็นกัลยาณปุถุชน แล้วก็อบรมเจริญปัญญา จนกระทั่งประจักษ์ความจริงของสภาพธรรม


    หมายเลข 4554
    22 ก.ย. 2567