ความริษยาเป็นเรื่องยากที่จะสลัดออก
ข้อความในอรรถกถาจูฬกัมมวิภังคสูตร มีข้อความว่า บทว่า อุปทุสฺสติ ได้แก่ เข้าไปด่าด้วยอำนาจความริษยานั่นเอง ชื่อว่าประทุษร้ายอยู่ สองบทว่า อิสฺสํ พนฺธติ ย่อมผูกไว้ซึ่งความริษยา ดังนี้ ความว่าความริษยาไม่หายไป ดุจบุคคลมัดอยู่ซึ่งข้าวเหนียว ยวกลาปํ ฉันใด ความริษยาตั้งอยู่ราวกับว่ามัดไว้ ฉะนั้น
ข้าวเหนียวนี่เหนียวใช่ไหม แกะเท่าไรก็ไม่ออก ยากเหลือเกินที่จะออก เพราะฉะนั้นถ้าใจของใครผูกไว้ด้วยความริษยาความริษยาก็ติดแน่น ยากที่จะสลัดออก แล้วผลก็คือว่า เข้าไปด่าด้วยอำนาจความริษยานั้นเอง
บทว่า อปฺเปสกฺโข คือผู้มีศักดาน้อย ความว่า ได้แก่ผู้ไม่มีบริวาร คือว่า ย่อมไม่ปรากฏ ดุจลูกศรที่เขายิงไปในเวลากลางคืน ฉะนั้น
บางท่านต้องการลาภยศสักการะสรรเสริญ แต่ไม่ทราบว่ากรรมอะไรเป็นเหตุที่จะให้ได้รับสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ลาภยศ สรรเสริญ เพราะฉะนั้นเมื่อไม่เข้าใจถึงกุศลกรรมที่เป็นเหตุที่จะให้ได้รับความเคารพยกย่องนับถือลาภสักการะ ก็เลยกระทำทุจริตกรรมด้วยผรุสวาจา แต่ผลของการกระทำด้วยความริษยา ความริษยาเป็นอกุศล เพราะฉะนั้นให้ผลตามควรแก่กำลังของความริษยานั้น คือ ทำให้ผู้นั้น ถึงจะปรารถนาลาภยศสักการะเคารพนับถือบูชาอย่างไร แต่บุคคลผู้ริษยานั้นก็เป็นผู้ที่มีศักดาน้อย ไม่มีบริวาร คือว่าย่อมไม่ปรากฏ ดุจลูกศรที่เขายิงไปในเวลากลางคืน มีใครมองเห็นไหมคะ ลูกศรที่ไปในเวลากลางคืน ไปจริง แต่ไม่ปรากฏให้คนอื่นเห็น เหมือนกับคนที่ไม่มีบริวารก็เช่นเดียวกัน แต่การที่จะไม่มีบริวารนั้นก็ด้วยอกุศลจิตซึ่งประกอบด้วยความริษยานั่นเอง
เพราะฉะนั้นทุกท่านก็ควรที่จะได้ระลึกถึงวจีกรรมที่มีอยู่ว่าเป็นคำพูดที่เป็นไปในลักษณะใด เพราะเหตุว่าการอบรมเจริญสติปัฎฐานนั้นเพื่อดับกิเลส ถ้าไม่มีปัญญาที่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง ไม่มีอะไรเลยที่จะดับกิเลสได้ แล้วถ้าสะสมกิเลสไว้มากๆ ถึงแม้ว่าไม่อยากจะให้กิเลสเกิดเลย กิเลสก็ต้องเกิด แม้ว่าจะไม่พอใจที่จะกล่าวผรุสสวาจา แต่ว่าเวลาที่มีปัจจัยพร้อม ที่จะให้ผรุสวาจาเกิด ผรุสวาจาก็ต้องเกิด เพราะฉะนั้นเรื่องของวจีกรรม ก็เป็นเรื่องใหญ่เรื่องหนึ่ง