เวทนาขันธ์ หมายถึง ความรู้สึก


    เวทนาขันธ์ (เว-ทะ-นา-ขัน) เป็นความรู้สึก คนไทยเราใช้บ่อยคือเวทนา ออกเสียงว่าเวทนา (เวด-ทะ-นา) แล้วเราก็แปลว่าสงสารเหลือเกิน คนนี้น่าเวทนามากก็น่าสงสารมาก แต่ในพระพุทธศาสนาแสดงว่า เวทนาเป็นสิ่งที่มีจริงๆ แล้วมีกับทุกคนด้วย เพราะเหตุว่าหมายความถึง ความรู้สึก ซึ่งความรู้สึกนั้น มีความรู้สึกที่เป็นสุขอย่างหนึ่ง ความรู้สึกที่เป็นทุกข์อย่างหนึ่ง ความรู้สึกเฉยๆ ไม่ทุกข์ไม่สุขอีกอย่างหนึ่ง ถ้าเรากล่าวโดยย่อเป็นเวทนา ๓ แต่ถ้าเราแยกเป็นทางกาย กับทางใจ จะเพิ่มโสมนัสเวทนาคือความรู้สึกเป็นสุขใจ และโทมนัสเวทนาความรู้สึกที่เป็นทุกข์ใจ ไม่มีใครที่ไม่มีเวทนาทั้ง ๕ นี้ ทุกคนมี เวลาเด็กร้องไห้ มีเวทนาหรือไม่ ต้องมี ขณะนั้นต้องเป็นโทมนัสเวทนา และถ้าร่างกายปวดเจ็บด้วยสำหรับใครก็ตาม ขณะนั้นเป็นทุกขเวทนา

    เพราะฉะนั้น ทุกข์กายก็คือความรู้สึกที่กาย ที่ร่างกาย ที่ปวด ที่เจ็บ ที่เมื่อย คันอะไรก็ได้ ที่เกี่ยวกับกายนี้ทั้งหมด ขณะนั้นเป็นความรู้สึกซึ่งมีจริงๆ เป็นทุกขเวทนา เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง แต่พระอรหันต์ถึงแม้ว่าท่านจะปวดจะเจ็บสักเท่าไหร่ก็ตาม ไม่มีโทมนัสสเวทนาคือไม่มีทุกข์ใจเลย มีแต่เพียงทุกข์กายเท่านั้น

    เพราะฉะนั้นเวทนาก็แยกออก ถ้าใครที่มีสติเกิดเร็ว เวลาทุกขเวทนาเกิด เขาก็รู้ว่าเป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง ไม่เดือดร้อน แต่ถ้าคนที่ไม่มีปัญญาหรือสติไม่เกิด พอทุกข์กายเกิดนิดหนึ่ง ความทุกข์ใจมากมายหลายเท่ากว่าทุกข์กาย เป็นห่วงไปถึงว่าอีก ๑๐ วันจะเป็นอย่างไร จะต้องผ่าตัดหรือไม่ จะต้องอะไรๆ บ้าง หลายอย่าง จะต้องกินยาอะไรต่างๆ พวกนี้ นี่ก็แสดงให้เห็นว่าทุกข์ใจมากมาย

    ในพระไตรปิฏกอุปมาไว้ไพเราะมาก ว่า สำหรับทุกข์กายนั้นไม่มีใครที่หนีพ้นเลยตราบใดที่มีกาย เมื่อมีตาก็ต้องมีโรคตาใช่หรือไม่ เป็นต้อ ไปผ่าตัด ไปรักษา มีหูก็ต้องมีโรคหู ส่วนหนึ่งส่วนใดของรูปร่างกายนั้นเป็นทุกข์กายได้ทั้งหมด เหมือนกับถูกยิงด้วยลูกศรดอกที่ ๑ เวลาที่ทุกข์กายเกิด และเวลาที่ทุกข์กายเกิดแล้วก็เป็นห่วงกังวลวิตกทุกข์ร้อนก็เป็นทุกข์ใจ เพราะว่ากายเจ็บ แต่กายคิดไม่ได้ แต่ความคิดนั้นปรุงแต่งไปสารพัดอย่างที่จะเป็นความทุกข์ เพราะฉะนั้นความทุกข์ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากที่ทุกข์กายแล้ว อุปมาเหมือนกับลูกศรดอกที่ ๒ ที่ยิงซ้ำที่แผลเก่า เพราะฉะนั้นความทุกข์จะเพิ่มมากขึ้นอีกสักเท่าไหร่

    เพราะฉะนั้นในชีวิตของเรานั้น เราแยกได้ ที่ทุกคนคิดว่ากำลังมีทุกข์หรือมีปัญหานั้น จริงๆ แล้วเป็นเรื่องของความคิด ความทุกข์จริงๆ ซึ่งทุกคนหนีไม่พ้นเลยนั้น เฉพาะทุกข์กายอย่างเดียวเท่านั้น ถ้าสมมติว่าร่างกายแข็งแรงดี ไม่เจ็บไม่ป่วยไม่ทุกข์ ให้ทราบว่าทุกข์ที่เหลือทั้งหมดเป็นเรื่องของทุกข์ใจ เป็นเรื่องของความคิด เป็นความกังวลความเดือดร้อนต่างๆ

    เพราะฉะนั้นเราเอาทุกข์มาทับถมตัวเอง ซึ่งถ้าเราไม่อยากจะมีทุกข์อันนี้ เราก็สามารถจะมีแต่เพียงทุกข์กายเท่านั้นได้ แต่ว่าก็ไม่ใช่ตัวตนที่จะไปบังคับอีก แต่ว่าให้ทราบว่าแม้แต่ความรู้สึกก็บังคับไม่ได้ นี่คือความหมายของขันธ์ เป็นสภาพธรรมซึ่งเกิดเพราะเหตุปัจจัยแล้วก็ดับสิ้นไป แต่ว่าเพราะเหตุว่าเรายึดถือสภาพธรรม ๕ อย่างนี้ว่าเป็นเรา เรายึดถือรูปตั้งแต่ศีรษะตลอดเท้าว่าเป็นเรา เรายึดถือความรู้สึก ไม่ว่าจะสุขจะทุกข์ ก็พลอยวุ่นวายเดือดร้อนกังวลว่าเป็นเราทั้งหมด เพราะฉะนั้นก็เป็นขันธ์หนึ่ง ก็เป็นขันธ์ที่ ๒


    หมายเลข 4581
    19 ก.พ. 2568