เรื่องของวิปากทุข์และกิเลสทุกข์


    บทว่า สทุกโข ได้แก่ มีความทุกข์ด้วยวิปากทุกข์บ้าง กิเลสทุกข์บ้าง

    ที่บางท่านก็ปรารภว่ามีความทุกข์ ก็ควรที่จะแยกได้ว่า ความทุกข์ที่มีอยู่เป็นวิปากทุกข์ เป็นผลของกรรมในอดีตที่ได้กระทำแล้ว นั่นเป็นส่วนของผลของกรรมที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ว่ากิเลสทุกข์ มีไหม คือ ความเร่าร้อนใจ ความไม่สบายใจ ความเดือดร้อนใจที่เกิด ขณะที่ได้รู้อารมณ์ที่ไม่ดีทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ สำหรับอารมณ์ที่ไม่ดีต่างๆ เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้จริง เพราะเหตุว่ากรรมในอดีตได้กระทำแล้ว แต่กิเลสทุกข์สามารถที่จะระงับบรรเทาละคลายได้ ด้วยการระลึกรู้ว่า ขณะนั้นเป็นสภาพของอกุศลจิต ซึ่งถ้าเกิดบ่อยๆก็จะสะสมไป แล้วก็ทำให้จิตของตนเองนั้นเศร้าหมอง ไม่สามารถที่จะดับความเศร้าหมองนั้นได้ ถ้าสติไม่เกิดขึ้นรู้ว่าสภาพของจิตในขณะนั้นเป็นอกุศล แต่ถ้าสติเกิดระลึกรู้ว่า ขณะนั้นเป็นสภาพของจิตที่ไม่ดี แล้วจิตที่ไม่ดีในขณะนั้นของตนเอง บุคคลอื่นก็ไม่สามารถที่จะเปลี่ยนแปลงให้เป็นอย่างอื่นได้ นอกจากสติและปัญญาจะรู้ในขณะนั้นว่า เป็นสภาพที่เศร้าหมอง ไม่เป็นกุศล แล้วก็จะทำให้จิตเศร้าหมองมากขึ้น ถ้าสะสมไปมากขึ้น ถ้ารู้อย่างนี้ก็คงจะไม่มีใครที่อยากจะสะสมสภาพของจิตที่เศร้าหมอง ซึ่งตนเองเท่านั้นที่จะบรรเทาให้ละคลายได้

    บทว่า สอุปทาโต ได้แก่ มีการกระทบกระทั่งด้วยการกระทบกระทั่งด้วยอำนาจวิบากและการกระทบกระทั่งด้วยอำนาจกิเลสนั่นเอง คือว่ามีความเร่าร้อน

    บทว่า มิจฉาปฏิปทา ความว่า ข้อปฏิบัตินี้เป็นอกุศลปฏิปทา

    ถ้าปล่อยให้จิตเศร้าหมอง เดือดร้อน เร่าร้อนด้วยกิเลส ไม่ระลึกรู้ในขณะนั้นไม่สามารถที่จะดับได้ เพราะฉะนั้นก็เป็นอกุศลปฏิปทา


    หมายเลข 4634
    26 ส.ค. 2558