ปัญญาและสมาธิต่างกันอย่างไร
ปัญญาไม่ใช่สมาธิ เพราะเหตุว่าถ้าเป็นสมาธิ จิตจดจ้องอยู่ที่อารมณ์เดียว แต่ถ้าเป็นสติปัฏฐานมีการระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามปกติ แล้วปัญญาเจริญขึ้น
ที่จริงแล้วน่าจะพูดเรื่องของมิจฉาสมาธิ หรือมิจฉามรรค มิจฉาปฏิปทา เพราะคนส่วนใหญ่คนมักจะนิยมกันประพฤติปฏิบัติ แต่ถ้าไม่ทราบว่า การปฏิบัติมี ๒ อย่าง คือ สัมมามรรค และมิจฉามรรค ถ้าไม่รู้ความต่างกัน ก็จะปฏิบัติมิจฉามรรค ไม่ใช่สัมมามรรค หรือสมาธิก็เช่นกัน ไม่ใช่มีแต่สัมมาสมาธิเท่านั้น มิจฉาสมาธิก็มี
เพราะฉะนั้น ถ้าไม่รู้ว่า สัมมาสมาธิคือขณะที่ประกอบด้วยปัญญาอย่างไร ขณะนั้นก็เป็นมิจฉาสมาธิ ไม่ใช่สัมมาสมาธิ
สำหรับในพระพุทธศาสนาแล้ว ปัญญาเป็นสิ่งสำคัญที่สุด เพราะเหตุว่าด้วยปัญญา พระผู้มีพระภาคจึงตรัสรู้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า และทรงแสดงพระธรรมทั้งหมดเพื่อเกื้อกูลให้พุทธบริษัทเกิดปัญญาของตนเองด้วย
ต้องทราบว่า ปัญญารู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏในขณะนี้ จึงจะเป็นปัญญาที่สามารถดับกิเลสได้ เพราะเหตุว่าขณะนี้ที่กำลังเห็น ก็ยึดถือว่าเป็นเราเห็น แต่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล เพราะฉะนั้น กำลังเห็นเดี๋ยวนี้ต้องไม่ใช่เรา แล้วไม่ใช่ตัวตนด้วย เป็นเพียงจิตประเภทหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย คือเมื่อมีจักขุปสาท แล้วมีสิ่งที่ปรากฏกระทบตา มีการเห็นเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เพราะเหตุว่าจิตที่เห็นไม่ใช่จิตที่ได้ยิน
นี่แสดงให้เห็นความต่างกันว่า คนหนึ่งๆ จะมีจิตซ้อนกัน ๒ – ๓ ขณะไม่ได้ แต่ละคนชีวิตดำรงอยู่เพียงชั่วขณะจิตเดียว เพราะฉะนั้น ในขณะที่เห็นไม่ใช่ขณะที่ได้ยิน
ด้วยเหตุนี้จึงควรรู้ความต่างกันก่อนว่า ขณะที่เห็นนี้เป็นอนัตตา เป็นนามธรรม เป็นสภาพรู้ ขณะที่ได้ยินก็เป็นอนัตตา เป็นนามธรรม เป็นสภาพรู้ ต้องมีความรู้ที่เกิดจากการฟัง จนสามารถเป็นปัจจัยให้สติระลึกได้ในขณะที่กำลังเห็นขณะนี้ ตามปกติ ตามความเป็นจริง มิฉะนั้นแล้วก็จะมีแต่สมาธิ แล้วไม่รู้ว่า ปัญญานั้นรู้อะไร แต่ก่อนอื่นเมื่อปัญญาเป็นสภาพที่รู้ถูกต้อง คือเริ่มจากความเข้าใจในลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ก็จะต้องรู้ว่า ปัญญาไม่ใช่รู้อื่น แต่เป็นปัญญาที่สามารถรู้ชีวิตประจำวันทุกขณะ ตั้งแต่ตื่นจนหลับ ไม่ว่าจะเป็นเห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส รู้สิ่งที่กระทบสัมผัส คิดนึก