จุดประสงค์ของการศึกษาธรรมคืออะไร
ลืมจุดประสงค์ของการศึกษาหรือเปล่าคะ โดยมากเราทำอะไร เราคิดถึงจุดประสงค์แท้จริงหรือเปล่า อย่างการศึกษา การให้ความรู้ หรือการเรียนรู้ จุดประสงค์คืออะไร จุดประสงค์จริงๆ ให้เกิดความเห็นถูก หรือให้เกิดความเห็นผิด
เพราะฉะนั้น ทุกคนจะลืมจุดประสงค์ แต่ถ้าเราย้อนกลับมาคิด จุดประสงค์ของการศึกษา ไม่ว่าที่บ้านกับลูกหลานมิตรสหายเพื่อนฝูง ที่โรงเรียนหรือที่อื่นก็ตาม จุดประสงค์ของการศึกษา คือ เพื่อให้เข้าใจถูกต้อง เราจะไม่ให้ความเห็นผิด หรือความเข้าใจผิด เพราะว่านั่นไม่ใช่การศึกษาเลย ไม่ชื่อว่า การศึกษา เพราะไม่มีความเข้าใจที่ถูกต้อง เราอาจจะคิดเป็นแนวการศึกษา ทุกคนต้องมาทำอย่างนี้เป็นการศึกษา แต่ตราบใดที่ไม่ใช่ความเห็นที่ถูกต้อง ตราบนั้นไม่ใช่การศึกษา แล้วเราเองลืมจุดประสงค์นี้หรือเปล่า หรือเราจะเปลี่ยนจุดประสงค์เป็นการศึกษาเพื่อความไม่รู้ แต่เราต้องการไม่รู้ คิดว่าง่ายดี เราไม่มีจุดประสงค์ที่ถูกต้องในการศึกษา และในการให้การศึกษา แต่ถ้ามีจุดประสงค์ที่ถูกต้อง เรามีความอดทน สิ่งที่ว่ายาก วันหนึ่งก็ง่าย มีใครบ้างที่เกิดมาก็ขี่จักรยาน ไม่ต้องหัดเลย ว่ายน้ำเป็น ไม่ต้องหัดเลย เห็นกีฬาต่างๆ โดยไม่ต้องหัดเลย เป็นไปไม่ได้เลย
เพราะฉะนั้น ชีวิตทั้งชีวิตเป็นการศึกษา แต่ว่าการศึกษา ถ้าไม่เข้าใจจุดประสงค์จริงๆ ว่า ศึกษาเพื่ออะไร อย่างวิชาการทางโลก ศึกษาเพื่อให้มีความสามารถทำงานในการเลี้ยงชีพ นั่นคือจุดประสงค์ของการศึกษาทางโลก แต่จุดประสงค์ของการศึกษาทางธรรม ธรรมเป็นสิ่งที่มีจริง ถ้าจะใครศึกษาต้องให้คนนั้นเห็นถูก ไม่ใช่ให้เห็นผิด เพราะฉะนั้น เราจะเป็นส่วนให้การศึกษา ถึงแม้ว่ายากเกินไป ก็ไม่เอาเลย แต่ถึงแม้ว่ายากเกินไป หรือยาก แต่ไม่เกินไป เริ่มได้ทีละเล็กทีละน้อย การศึกษาต้องเริ่มตั้งแต่ขั้นอนุบาลหรือเปล่าคะ หรือเอาปริญญาเอกมาศึกษาทันที เป็นไปไม่ได้เลย
สติปัฏฐานเป็นระดับไหน อนุบาล ประถม หรือปริญญาเอก ถ้าไม่เข้าใจเรื่องสติปัฏฐาน ใช้แต่ชื่อว่า สติปัฏฐาน แล้วเราเองที่เป็นคนให้ผู้รู้คนอื่น เราเองถ้าไม่ศึกษา ก็เป็นผู้ไม่รู้ เมื่อผู้ไม่รู้ให้คนอื่นไม่รู้ ก็ไม่รู้กันต่อๆ ไป นี่ไม่ใช่จุดประสงค์ของการศึกษา
เพราะฉะนั้น ในโลกนี้จะมีคนสักเท่าไรก็ตาม แต่ถ้ามี ๑ หรือ ๒ หรือ ๓ หรือจำนวนน้อยสักเท่าไรก็ตาม แต่หวังดีต่อบุคคลอื่น เป็นมิตรจริงๆ คือให้ความรู้ที่ถูกต้อง ถ้าไม่ใช่มิตร เราให้สิ่งที่ผิด เราไม่เมตตากรุณาสงสารเขาเลย ให้สิ่งที่ผิดแล้วเขาก็เห็นผิด ไม่ใช่ชาตินี้ชาติเดียว ความเห็นผิดเริ่มแล้วมากขึ้นจะติดตามทุกชาติไป ในครั้งที่พระผู้มีพระภาคยังไม่ปรินิพพาน มีผู้เห็นผิดมากมาย มีครู ๖ คนที่มีชื่อเสียงมาก ครู ๖ คนก็สอนคนอื่นให้เห็นผิดไปเรื่อยๆ แต่พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ทรงสอนให้คนอื่นมีความเห็นถูกขึ้นเรื่อยๆ
เพราะฉะนั้น เราจะเป็นครู ๖ คน และป่านนี้จะเพิ่มเป็นเท่าไรก็ไม่รู้ และฝ่ายที่มีความเห็นถูก หรือมีความเป็นมิตรกับคนอื่นจริงๆ จะเป็น ๑ หรือจะเป็น ๒ หรือเป็นเท่าไร แต่มีเราอยู่ด้วยในจำนวนนั้น เราจะอยู่ข้างไหน เป็นสิทธิของเราที่จะคิด จะไตร่ตรอง ประโยชน์สูงสูดของการเกิดเป็นมนุษย์ ไม่มีดีเท่ากับสามารถศึกษาเข้าใจสิ่งที่มีจริงๆ เพราะมีโอกาสได้ฟังพระธรรม คนที่มีโอกาสได้ฟังพระธรรม คงจะไม่ทราบว่า ได้สะสมบุญในอดีต พอจะผันชีวิตมาได้ยินได้ฟังทำให้เข้าใจถูกต้อง เป็นคำสอนที่ประเสริฐเพราะมาจากการตรัสรู้ของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าเราเป็น ๑ ในนั้น เราอยากให้คนอื่นเป็นอย่างนั้นด้วยหรือเปล่า หรือว่าปล่อยเขาไป เขาจะเห็นผิดอย่างไรก็ปล่อยเขาไป หรือเราสามารถจะช่วยได้ เราจะช่วย
เพราะฉะนั้น ก็เป็นเรื่องที่ต้องอดทน หัวใจของพระพุทธศาสนาซึ่งประมวลคำสอนทั้งปวง ชื่อว่า โอวาทปาติโมกข์ ขันติเป็นตบะอย่างยิ่ง ความเพียร ความอดทนที่จะเผากิเลส เป็นความอดทนสูงสุด