ศึกษาพระธรรมเท่าไรจึงจะพอ


    ศึกษาพระธรรมเท่าไรจึงจะพอ กฎเกณฑ์จะมาอีกแล้ว คือต้องเท่านั้นเท่านี้หรือต้องจบเล่มนั้น เล่มนี้ ปริจเฉทนั้น ปริจเฉทนี้ ตอนนั้นตอนนี้ แต่ต้องเป็นผู้ไม่ลืมจุดประสงค์ของการมีชีวิตอยู่ การฟังพระธรรมเพื่ออะไร แม้แต่การศึกษาธรรมเพื่ออะไร แต่ถ้าถามว่า ศึกษาพระธรรมเท่าไรถึงจะพอ ดูเหมือนพยายามศึกษาให้จบเพื่อปฏิบัติ พอหรือยังแล้วจะได้ปฏิบัติ แต่นั่นไม่ใช่ความเข้าใจธรรมเลย ต้องตั้งต้นใหม่จริงๆ ว่า ศึกษาพระธรรมเพื่ออะไร ถ้าถามได้ตรงก็ถูก แต่ถ้าถามว่า ศึกษาเท่าไรถึงจะพอก็ไม่ตรง ศึกษาพระธรรมเพื่อเข้าใจ เพื่อเข้าใจ เข้าใจอะไร เพราะทุกคนศึกษาเพื่อเข้าใจทั้งนั้น แต่ศึกษาเพื่อเข้าใจอะไร ต้องให้ตรงอีก คือ เข้าใจสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ไม่ได้เข้าใจอย่างอื่น บางคนอาจจะคิดว่า เพื่อเข้าใจสิ่งที่มีในตำรา แต่นั่นไม่ใช่ความเข้าใจ นั่นเป็นเรื่อง แต่ศึกษาตำราเพื่อให้เข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏ

    เพราะฉะนั้น ก็ต้องเข้าใจจริงๆ ไม่ว่าศึกษาส่วนใดในพระไตรปิฎก ศึกษาน้อยหรือมากก็ตาม แต่เพื่อเข้าใจสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เช่น ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา เพียงเท่านี้ เข้าใจลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏจริงๆ อย่างนี้หรือยัง กำลังเห็นเป็นอนัตตาอย่างไร กำลังได้ยิน กำลังได้กลิ่น กำลังลิ้มรส กำลังคิดนึก กำลังกระทบสัมผัส กำลังสุข กำลังทุกข์เป็นอนัตตาอย่างไร ถ้ายังไม่เข้าใจ ก็ศึกษา คือฟังเรื่องการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัส การคิดนึกต่างๆ เพิ่มความเข้าใจในลักษณะที่เป็นอนัตตาของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏยิ่งขึ้น

    เพราะฉะนั้น จึงไม่มีคำถามที่ว่า ศึกษาเท่าไรถึงจะพอ ใช่ไหมคะ รู้สึกว่าอยากจะพอ คือไม่อยากศึกษาต่อไป คิดว่าพอแล้ว แต่ว่าตามความเป็นจริงตราบใดทางตายังไม่ปรากฏความเป็นอนัตตา ก็ศึกษาต่อไป เพื่อจะได้เข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏจนกว่าสติจะระลึก จนกว่าปัญญาจะเพิ่มขึ้น จนกว่าลักษณะของสภาพธรรมจะปรากฏ จนกว่ากิเลสจะดับ

    เพราะฉะนั้น จะไม่มีคำว่า ศึกษาเท่าไรถึงจะพอ ซึ่งดูเหมือนกับว่าเป็นกฎเกณฑ์


    หมายเลข 4694
    25 ก.ค. 2567