การจดจ้องที่ลมหายใจทำให้จิตสงบได้ไหม
ทุกคนมีลมหายใจ แต่การที่จะรู้ที่ลมหายใจด้วยโลภะได้ไหม ตามความเป็นจริง ลองย้อนคิดซิว่า ลมหายใจมี เป็นที่ตั้งของโลภะได้ไหม ตามปกติ ทุกอย่างเป็นอารมณ์ของโลภะได้ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นรูป เป็นเสียง เป็นกลิ่น เป็นรส เป็นโผฏฐัพพะ ลมหายใจก็คือโผฏฐัพพารมณ์ อารมณ์ที่ปรากฏเมื่อกระทบสัมผัสในช่องจมูก หรือเบื้องบนริมฝีปาก เช่นเดียวกับโผฏฐัพพะอื่นที่กระทบส่วนอื่นของร่างกาย และมีความปรารถนา มีความต้องการ มีความจำเป็นอะไรที่คิดว่า เมื่อจดจ้องที่ลมหายใจแล้ว จิตจะสงบ ลมอื่นได้ไหม
เพราะฉะนั้น ข้อที่ควรระลึกก็คือว่า เมื่อลมหายใจเป็นสภาพธรรมที่มีจริง ที่เป็นโผฏฐัพพารมณ์ ที่ปรากฏเมื่อกระทบกาย เป็นที่ตั้งของความพอใจได้หรือไม่ได้ ได้ เพราะฉะนั้น เมื่อจิตระลึกที่ลมหายใจโดยปราศจากปัญญา แต่พอใจให้รู้อยู่ที่ลมหายใจ ขณะนั้นจะเป็นโลภะหรือจะเป็นความสงบ เพราะเหตุว่ามีความต้องการให้จิตอยู่ที่นั่น ลักษณะของของการจดจ้องอยู่ที่อารมณ์หนึ่งอารมณ์ใด เป็นลักษณะของสมาธิ ไม่ใช่ลักษณของความสงบ
เพราะฉะนั้น ไม่ว่าอารมณ์ใดก็ตามย่อมเป็นที่ตั้งของโลภะได้ทั้งสิ้น ถ้าปราศจากปัญญาที่จะรู้สภาพของจิตขณะนั้นว่า เป็นกุศลหรือเป็นอกุศลเพราะเหตุใด เหตุนี่สำคัญมาก ถ้าปราศจากเหตุที่ถูกต้อง สติปัฏฐาน และปัญญาขั้นวิปัสสนาก็เกิดไม่ได้ ถ้าปราศจาเหตุที่ถูกต้อง ความสงบ และปัญญาขั้นสมถะก็เกิดไม่ได้ ไม่ใช่อยู่ดีๆ ทุกคนที่ไม่รู้อะไรเลยก็ไปนั่งจดจ้องอยู่ที่ลมหายใจแล้วจิตก็จะสงบ จะไม่มีกล่าวไว้ในพระไตรปิฎกเลยว่า การอบรมเจริญภาวนาสามารถกระทำได้ด้วยความไม่รู้
เพราะฉะนั้น ผู้หนึ่งผู้ใดก็ตาม ซึ่งไม่รู้อะไร เพียงแต่รู้ว่า ให้จดจ้องที่ลมหายใจ รู้เพียงแค่ให้จดจ้องที่ลมหายใจ ไม่สามารถจะช่วยให้จิตสงบได้ รู้อะไรคะ เพียงแต่ให้จดจ้องอยู่ที่ลมหายใจ นั่นไม่ใช่ลักษณะของปัญญาอะไรเลย ไม่รู้ด้วยว่า ทำไม เหตุอะไรจึงควรระลึกที่ลมหายใจ เมื่อไม่มีเหตุที่เป็นปัจจัยให้สงบ ความสงบก็เกิดไม่ได้ เพราะว่าเพียงแต่ไม่รู้ และได้รับคำสั่งมาให้จดจ้องที่ลมหายใจ ก็ไม่ใช่ความรู้อะไรเลย