ผัสสะ - อารมณ์ - โลภะ - ปัจจัย
และขอทบทวนถึงความละเอียด
ผัสสเจตสิกที่เกิดกับโลภมูลจิต เกิดขึ้นเพราะโลภะเป็นเหตุหรือเปล่าคะ เพราะเหตุว่าแม้ผัสสะที่จะกระทบอารมณ์ก็กระทบด้วยโลภะ คือ กระทบด้วยการติด ซึ่งต่างกับผัสสเจตสิก ซึ่งเกิดกับกุศลจิตในขณะนั้นแม้กระทบอารมณ์ก็กระทบด้วยความไม่ติด หรือว่าความไม่โกรธหรือถ้าในขณะนั้นเป็นการอบรมเจริญปัญญา ในขณะที่ผัสสะกระทบกับนามธรรมหรือรูปธรรมในขณะนั้นผัสสะก็กระทบด้วยอโลภะอโทสะและอโมหะ จนกระทั่งถึงผัสสะที่เกิดกับโลกุตตรจิต ในขณะนั้นกระทบกับอารมณ์ด้วยปัญญา ซึ่งเป็นโลกุตตระ
เพราะฉะนั้นแม้ผัสสะที่จะกระทบอารมณ์ต่าง ๆ ก็ต้องแล้วแต่เห-ตุปัจจัยซึ่งเป็นสหชาตปัจจัยด้วยและเป็นอัญญมัญญปัจจัยด้วยหรือเปล่าคะ
นี่คือการที่จะทวนปัจจัยทั้งหมดที่ได้ศึกษาทีละปัจจัย ทีละปัจจัย กลับไปถึงปัจจัยต้น ๆ ที่ได้ศึกษาแล้วเพื่อความเข้าใจชัดเจนจริง ๆ
โลภะเหตุเป็นสหชาตปัจจัย เป็นเห-ตุปัจจัยให้โลภมูลจิตเกิด และเจตสิกอื่นๆ ซึ่งเกิดร่วมด้วย ไม่เป็นปัญหาใช่ไหม ?
ผัสสเจตสิกซึ่งเกิดกับโลภมูลจิต เป็นปัจจัยให้เกิดโลภเจตสิกหรือเปล่า ? โลภเจตสิกเป็นสหชาตปัจจัยให้เกิดโลภมูลจิตและเจตสิกทั้งหมดที่เกิดกับโลภมูลจิต ผัสสะก็เกิดกับโลภมูลจิต เวทนาก็เกิดกับโลภมูลจิต
เพราะฉะนั้นผัสสเจตสิกนี้เป็นปัจจัยให้เกิดโลภเจตสิกหรือเปล่า ? ไม่เป็น ก็ผิดนี่เรื่องที่จะต้องเข้าใจความละเอียดจริง ๆ โดยเหตุผล เหตุผลต้องเป็นเหตุผล ผัสสเจตสิกต้องเป็นปัจจัยให้เกิดโลภเจตสิกโดยสหชาตปัจจัย ไม่ใช่โดยเห-ตุปัจจัย หนึ่งแล้ว โดยอัญญมัญญปัจจัย ไม่ใช่โดยเห-ตุปัจจัย
ชีวิตตามความเป็นจริงแต่ละขณะ กว่าจะรู้ชัดเจนว่าไม่ใช่สัตว์ไม่ใช่บุคคลเลยสักขณะเดียว สภาพธรรมแต่ละอย่างอาศัยกันเกิดขึ้นจริง ๆ แต่ต้องละเอียดจึงจะรู้ตามความเป็นจริงว่านามธรรมและรูปธรรมเท่านั้นเอง เท่านั้นเองจริง ๆแต่ที่เกิดเป็นไปแต่ละครั้ง ๆเพราะปัจจัยอะไรบ้าง ?
ต่อไปนี้ก็ไม่มีปัญหาอีกแล้วใช่ไหม ?
ผัสสเจตสิกเป็นปัจจัยให้เกิดโลภเจตสิก โดยเป็นสหชาตปัจจัยและอัญญมัญญปัจจัย
แต่โลภเจตสิกเป็นปัจจัยให้เกิดผัสสเจตสิก โดยเป็นเห-ตุปัจจัย สหชาตปัจจัยและอัญญมัญญปัจจัย
ชื่ออาจจะยาก แต่ภาษาไทยก็คุ้นเคยกันเป็นส่วนใหญ่ เช่นคำว่า “เห-ตุ”เป็นสภาพธรรมซึ่งเป็นเหตุเป็นมูลของกุศลและอกุศลสำหรับผู้ที่ยังไม่ใช่พระอรหันต์ สำหรับพระอรหันต์แล้วดับโลภเหตุ โทสเหตุโมหเหตุแต่ยังมีปัจจัยที่จะให้เกิดอโลภะเหตุอโทสเหตุ อโมหเหตุ แต่ไม่ใช่กุศล เพราะเหตุว่าไม่เป็นเหตุให้เกิดวิบากเพราะฉะนั้นอโลภเหตุ อโทสเหตุอโมหเหตุของพระอรหันต์จึงเป็นอัพพยากตเหตุคือเป็นกิริยาและเป็นวิบากได้
นี่เรื่องของเห-ตุปัจจัย ซึ่งโลภเจตสิกเป็นเห-ตุปัจจัยทำให้เกิดปัจจยุปบัน คือ โลภมูลจิต และเจตสิกซึ่งเกิดร่วมด้วยและจิตตชรูป