ทรงมีผู้ภักดี
พระผู้มีพระภาคทรงเป็นผู้ที่จริงใจต่อการอบรมเจริญบารมีเพื่อการรู้แจ้งอริยสัจจธรรม จนในที่สุดทรงรู้แจ้งพระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะเหตุ คือ พระองค์ทรงมีอุปการะอย่างยิ่งยวดในหมู่สัตว์ และเทวดา และมนุษย์ทั้งหลาย พระองค์ทรงประกอบด้วยพระคุณสูงสุดกว่าสรรพสัตว์ จึงทรงประกอบด้วยเสียงสรรเสริญสดุดีที่ไพบูลย์ยิ่ง และบริสุทธิ์ยิ่งในไตรโลก และทรงมีผู้ภักดีต่อพระองค์อย่างจริงใจ
ท่านผู้ฟังก็คงจะเห็นการกล่าวสรรเสริญพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ ๒,๕๐๐ กว่าปีในโลกมนุษย์ ในเทวโลก ในพรหมโลก เป็นคำสดุดีสรรเสริญอย่างไพบูลย์ยิ่ง และบริสุทธิ์ยิ่ง ด้วยเหตุที่พระองค์ทรงมีอุปการะอย่างยิ่งยวดในหมู่สัตว์ และเทวดา และมนุษย์ทั้งหลาย ทรงเป็นผู้มีผู้ที่ภักดีต่อพระองค์ อย่างจริงใจ
ความภักดีในพระผู้มีพระภาค เป็นความภักดีของผู้เลื่อมใสมั่นคงยิ่ง ซึ่งใน ปรมัตถทีปนี อรรถกถา ขุททกนิกาย อิติวุตตกะ อรรถกถาโลภสูตร มีข้อความว่า
... ความภักดีของบุคคลเหล่านั้น อันใครๆ จะเป็นสมณะ พราหมณ์ เทวดา มาร หรือพรหม ก็ลักไปไม่ได้
เป็นความจริง บุคคลผู้ภักดีเหล่านั้น แม้ตนเองจะต้องเสียชีวิต ก็จะไม่ยอมทิ้งความเลื่อมใสในพระพุทธเจ้า หรือคำสั่งสอนของพระองค์ ก็เพราะต่างมีความภักดีอย่างมั่นคง ด้วยเหตุนั้นแล พระผู้มีพระภาคจึงตรัสว่า
ผู้ใดแลเป็นบัณฑิต เป็นผู้กตัญญูกตเวที ผู้นั้นย่อมเป็นกัลยาณมิตร และ มีความภักดีอย่างมั่นคง
พิจารณาจิตใจของทุกท่านได้ว่า มีความภักดีของพระผู้มีพระภาคอย่างจริงใจ โดยไม่มีใครบังคับ
ผู้ใดก็ตามที่มีความศรัทธา มีความเลื่อมใสในพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้ว ไม่เปลี่ยนแปลง แม้ว่าบุคคลอื่นจะพยายามเปลี่ยนความศรัทธาหรือความภักดี ของท่าน ท่านก็ไม่เปลี่ยนตราบจนสิ้นชีวิต เพราะว่าแต่ละบุคคลที่มีศรัทธามั่นคง ในพระรัตนตรัยแล้ว จะเป็นผู้ที่มีความภักดีต่อพระผู้มีพระภาคจนตลอดชีวิต ซึ่งจะ เห็นได้ว่า ไม่มีใครอีกแล้วที่จะได้รับความภักดียั่งยืนนานเท่าพระผู้มีพระภาค เพราะว่าความภักดีที่มีต่อบุคคลอื่นที่ไม่ใช่พระผู้มีพระภาคนั้นเป็นชั่วขณะ ชั่วกาล บางครั้ง ก็มาก บางครั้งก็น้อย บางครั้งก็ยาวนาน บางครั้งก็ชั่วเวลาไม่นาน แต่ความภักดีต่อ พระผู้มีพระภาคสำหรับพุทธบริษัท จะเห็นได้ว่า ทุกวัน ตั้งแต่เช้าจนถึงค่ำ มีการสวดมนต์ระลึกถึงคุณของพระรัตนตรัย ตั้งแต่เด็กจนโต จนตาย
แสดงให้เห็นถึงพระคุณที่ทุกคนได้ประจักษ์ในความจริงใจที่พระผู้มีพระภาค ทรงอบรมเจริญบารมีเพื่อการรู้แจ้งอริยสัจจธรรม และทรงมีอุปการะอย่างยิ่งยวดใน หมู่สัตว์ และเทวดา และมนุษย์ทั้งหลาย
พระผู้มีพระภาคทรงพระนามว่า ภควา เพราะทรงมีคนภักดีอย่างมั่นคง เพราะพระองค์ทรงมีปกติแสวงหาประโยชน์เกื้อกูลแก่สัตว์โลก ทั้งนี้เพราะ พระมหากรุณาบารมีที่ทรงใคร่ครวญที่จะทรงแสดงธรรมให้สัตว์ทั้งหลายบรรลุถึง ความมั่นคงในศีล ในสมาธิที่สงบจากกิเลส และในปัญญา พระองค์จึงทรงได้รับ ความภักดีอย่างจริงใจจากพุทธบริษัททั้งคฤหัสถ์ และบรรพชิต ทรงได้รับความภักดี โดยมอบถวายปัจจัยไทยธรรมทุกสิ่ง ทั้งดอกไม้ ธูปเทียน ของหอม เครื่องสักการบูชา
แสดงให้เห็นว่า ผู้ที่มีความจริงใจ มีสัจจะ มีการแสวงหาประโยชน์เกื้อกูล แก่สัตว์โลก เป็นผู้ที่ดับกิเลสหมด เพราะฉะนั้น ผู้อื่นย่อมสามารถเห็นพระมหากรุณา และพระปัญญาของพระองค์ได้ จึงมีความภักดีต่อพระองค์ โดยไม่มีใครมีผู้ที่ภักดีต่อเท่ากับพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า
เพราะฉะนั้น ในสมัยนี้ก็น่าคิดว่า ท่านผู้ฟังภักดีต่อพระรัตนตรัยจริงๆ หรือว่า ภักดีต่อภิกษุบุคคล นี่ต้องคิด เพราะถ้าเป็นการภักดีต่อพระรัตนตรัยแล้ว ก็ต้องศึกษา เข้าใจพระธรรม และอบรมเจริญปัญญา เพื่อละคลายอกุศลของตนเอง
แต่ถ้าภักดีต่อภิกษุบุคคล ซึ่งไม่ทำให้เข้าใจพระธรรม และไม่สามารถอบรมเจริญปัญญารู้แจ้งอริยสัจจธรรมได้ การภักดีต่อบุคคลอื่นหรือแม้ภิกษุบุคคลนั้น ก็เพียงเพื่อหวังลาภบ้าง ยศบ้าง ตำแหน่งบ้าง แต่ไม่สามารถเกิดปัญญาที่จะทำให้เข้าใจในพระรัตนตรัยได้
นี่เป็นความต่างกัน ความภักดีต่อพระรัตนตรัยกับความภักดีต่อภิกษุบุคคล ซึ่งไม่ทำให้เข้าใจพระธรรม อาจจะเพียงทำให้เกิดลาภบ้าง ยศบ้าง หรือสักการะ หน้าที่ตำแหน่งการงานต่างๆ บ้าง
ที่มา ...