ทรงมุ่งให้เจริญสติปัฏฐานเป็นปรกติ


    ถ้าท่านผู้ฟัง อ่านพระไตรปิฎก ท่านผู้ฟังจะเห็นว่าพระผู้มีพระภาค ทรงแสดงธรรม มากมายทีเดียว เพื่ออนุเคราะห์ให้กุศลจิตเกิด และเจริญ เช่นทรงแสดงธรรมให้พระภิกษุทั้งหลายเจริญเมตตา กายกรรมที่ประกอบด้วยเมตตา วจีกรรมที่ประกอบด้วยเมตตา มโนกรรมที่ประกอบด้วยเมตตา นี้คือการอบรมเจริญความสงบของจิต ที่เป็นกุศลที่เป็นสมถภาวนา แต่อย่าลืม ว่า ทุกข้อความที่พระผู้มีพระภาค ทรงแสดงนั้น ทรงมุ่งที่จะให้พุทธบริษัทอบรมเจริญสติปัฏฐาน เป็นปกติ เพราะฉะนั้น แม้จะทรงแสดงเรื่องของ เป็นผู้ที่มีกายกรรม วจีกรรม มโนกรรมประกอบด้วยเมตตา ก็ไม่ได้หมายความว่า ให้เป็นผู้ที่หลงลืมสติในขณะนั้นๆ เพราะเหตุว่าพระธรรมที่ทรงแสดงไว้จุดประสงค์ที่สูงที่สุด ก็คือให้ทุกท่านเป็นผู้ที่ไม่หลงลืมสติ เป็นผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐาน เพราะฉะนั้น สติปัฏฐาน หรือสติปัฏฐานสูตร จะแทรกอยู่ทุกบรรทัด หรือว่าทุกพระธรรมคำสอนของพระผู้มีพระภาค ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของทาน หรือศีล หรือสมถะก็ตาม เพราะเหตุว่าหลายท่านจะเห็นได้ว่าในพระไตรปิฎก นั้นเต็มไปด้วยการให้อบรมเจริญกุศล ไม่ว่าจะเป็นการที่จะพิจารณาเห็น ความเป็นปฏิกูลของผมขนเล็บฟันหนัง ส่วนต่างๆ ของร่างกาย หรือว่าความเป็นผู้ที่สม่ำเสมอ ไม่เดือดร้อนใจ ไม่ดีใจ ไม่เสียใจ ในคำชม และในคำติ ในคำสรรเสริญ ในคำนินทาต่างๆ ความเป็นผู้ที่มีจิตมั่นคงไม่หวั่นไหว แล้วแต่ว่าขณะนั้นจิตเกิดขึ้น ระลึกเป็นไป ในความสงบ หรือว่าเป็นไปในสติปัฏฐาน แต่ว่าทั้งหมดก็เป็นกุศลที่ควรเจริญ ทาน ควรเจริญฉันใด ศีล ควรเจริญฉันใด สมถะ คือความสงบของจิต ก็ควรอบรมเจริญฉันนั้น แต่ว่าไม่ใช่ว่าให้เป็นผู้ที่ ปราศจากการเจริญสติปัฏฐาน แต่เแม้พระผู้มีพระภาค เอง ก็ไม่สามารถที่จะอนุเคราะห์ ให้สติปัฏฐาน ของทุกคน เกิดขึ้น ระลึกรู้ลักษณะสภาพของธรรมที่กำลังปรากฏ ได้ตลอดเวลา ไม่มีใครที่สติปัฏฐานจะเกิดได้ตลอดเวลา บางครั้ง ขณะที่ให้ทาน สติอาจจะไม่ระลึกรู้ ในสภาพของนามธรรม และรูปธรรม ที่เป็นสติปัฏฐาน เลย ในขณะนั้น แต่ว่าการให้ก็มีหลายครั้ง เพราะฉะนั้นบางครั้งสติก็เกิดระลึกบ้าง บางครั้งสติอาจจะไม่ระลึกเลย บางคร้งสติปัฏฐาน อาจจะมีมาก บางครั้งสติปัฏฐาน อาจจะมีน้อย เมื่อสภาพของจิตย่อมเกิดขึ้นเป็นไป ตามเหตุตามปัจจัยอย่างนี้ บางขณะแทนที่จิตจะเป็นอกุศล ปัญญาสามารถที่จะรู้ในสภาพของอกุศล และเห็นโทษ และจิตสงบได้ เพราะระลึกถึงอารมณ์ของสมถะ อารมณ์ ๑ อารมณ์ใด ในสมถกรรมฐาน ๔๐ ในขณะนั้นสติปัฏฐาน จะระลึกรู้ ในสภาพที่ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ด้วยได้ เพราะเป็นผู้ ที่ไม่เข้าใจผิดในการเจริญสติปัฏฐาน เพราะเป็นผู้ที่รู้หนทางว่าสติปัฏฐาน นั้น อบรมเจริญอย่างไร แต่ว่าสมถภาวนาก็เป็นกุศลขั้น ๑ ซึ่งควรที่จะอบรมเจริญให้มากด้วย แต่จุดประสงค์ คือสติปัฏฐาน ควรระลึกรู้ลักษณะสภาพของจิต แม้ว่าขณะนั้นเป็นเพียงความสงบขั้น สมถะ ที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย ตามความเป็นจริงในขณะนั้น


    หมายเลข 4771
    3 ส.ค. 2567