อาตาปี สัมปชาโน สติมา
ระลึกแล้วรู้ชัด เพราะเหตุว่าการเจริญสติปัฏฐานท่านทรงแสดงไว้ทีเดียว อาตาปี สัมปชาโน สติมา มีความเพียรที่จะรู้สึกตัว แล้วเห็นกายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต ธรรมในธรรม ไม่ใช่ระลึกเฉยๆ ถ้าระลึกเฉยๆ ไม่มีสัมมาทิฏฐิจะเป็นมรรคมีองค์ ๘ ได้อย่างไร ส่วนต่างๆ ที่เป็นกายก็เห็นว่าเป็นกาย ไม่เห็นว่าเป็นตัวตน เวทนาในเวทนา เวลาที่สติระลึกรู้ความรู้สึก ก็รู้ว่าเป็นเพียงความรู้สึกไม่ใช่ตัวตน การเห็น กายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต ธรรมในธรรม ก็คือว่า ไม่เห็นกาย เวทนา จิต ธรรม เป็นตัวตน เห็นตามความเป็นจริง กายก็เห็นว่าเป็นกาย เวทนาก็เห็นว่าเป็นเวทนา จิตก็เห็นว่าเป็นจิต ธรรมก็เห็นว่าเป็นธรรม
ไม่จงใจ นี่เป็นเรื่องของความลำบากของการปฏิบัติผิด เพราะเหตุว่าไถ่ถอนยากเหลือเกิน เมื่อจิตน้อมไป โน้มไปสู่อารมณ์ใด ก็มักจะน้อมไปโน้มไปสู่อารมณ์นั้นเรื่อยๆ เพราะฝึกหัดมานานมาก ต้องตัดจริงๆ ทิ้งไปเลย ให้ทราบว่าการเจริญสติปัฏฐานนั้นเป็นการระลึกรู้สิ่งที่กำลังปรากฏตามปกติ อย่าทิ้งคำว่าตามปกติเลย และทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ทุกๆ ขณะ ขณะไหนก็ได้ เพราะเหตุว่าขณะจิตแต่ละขณะเป็นวัฏฏะ ขณะที่ยังไม่เกิด ยังไม่มี ยังไม่ปรากฏ ไม่สามารถที่จะไประลึกได้ เพราะฉะนั้นไม่ใช่ว่า จะไปทำกัมมัฏฐาน การเจริญสติปัฏฐาน หรือว่าการเจริญปัญญา การเจริญวิปัสสนานั้น ระลึกทันที มีโลกปรากฏทุกขณะ ไม่ว่าจะเป็นทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ไม่ใช่ไป “จะทำกัมมัฏฐาน” ไม่ใช่จะไปทำวิปัสสนา จะทำไม่ได้เลย ยิ่งเจริญสติต่อไปๆ จะพบว่า ความเป็นตัวตนแทรกอยู่ละเอียดมาก เพียงแต่คิดว่าจะทำ หรือกำลังทำ ก็เป็นตัวตน
ท่านผู้ฟังถามว่า เวลาที่ระลึกได้แล้ว เป็นจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ไม่ใช่กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน แต่จะสำคัญอะไรในเมื่อสติเกิดระลึกชั่วนิดเดียวแล้วสติก็ดับ แล้วก็มีอย่างอื่นเป็นอารมณ์ต่อไปได้ทันที ไม่ใช่ให้ไปจ้องอยู่ที่กายอย่างเดียวนานๆ นั่นไม่ใช่ลักษณะของการเจริญสติ เพราะเหตุว่าการปรารภสติ คือ สติเกิดขึ้น เนืองๆ บ่อยๆ ท่านใช้คำว่า ปรารภ เริ่มเรื่อยๆ ระลึกได้เรื่อยๆ แม้แต่สติ พยัญชนะท่านก็อธิบายไว้ว่า ได้แก่ อนุสติ คือ การระลึกเนืองๆ บ่อยๆ ถ้าต่ออยู่เรื่อยๆ สติจะดับไหม ก็เป็นสติอีกชนิดหนึ่ง ระลึกรู้นามคนละอย่าง รูปคนละอย่างแล้ว และสติก็ต้องดับไป ที่จะรู้ว่า สติเป็นธรรมชาติที่ระลึกก็ดับด้วย เพราะเหตุว่าสิ่งที่สติระลึกนั้นมีลักษณะผิดกัน ไม่ใช่ว่ามีลักษณะอย่างเดียวอยู่เรื่อยๆ นั่นเป็นการบังคับสติ ปัญญาไม่เจริญ ไม่รู้อะไร ไปนั่งบังคับ เป็นนามหรือเป็นรูป สติระลึกรู้ลักษณะสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนั้นตามความเป็นจริง อย่าลืม “เจริญปัญญา” มหาสติปัฏฐานเป็นการเจริญมรรคมีองค์ ๘ ปัญญาเพิ่มความรู้ขึ้น ไม่ใช่เพิ่มความสงบ ไม่ใช่เพิ่มสมาธิ แต่เพิ่มความรู้ชัดในสิ่งที่ปรากฏทีละเล็กทีละน้อยจนกว่าจะถึงความสมบูรณ์ บังคับก็เป็นอัตตา อัตตาเยอะมากแล้ว