กสิณ ๑๐ ... ปฐวีกสิณ
สำหรับกสิณ ๑๐ ได้กล่วถึงแล้วในคราวก่อน ได้แก่ ภูตกสิณ ๔ คือปฐวีกสิณ ๑ อาโปกสิณ ๑ เตโชกสิณ ๑ วาโยกสิณ ๑ เพื่อให้จิตระลึก ที่สภาพของธาตุ ของรูปทั้งหลาย ตามความเป็นจริง เพื่อที่จะละคาย การติดการยึดถือ ในรูปธรรม ทั้งหลาย เพราะเหตุว่ารูปธรรมทั้งหลายซึ่งปรากฏ ให้เป็นที่ตั้งของความยินดี ความพอใจแล้ว ที่จะปราศจากปฐวี คือธาตุดิน ไม่มี ลักษณะที่อ่อน ที่แข็งย่อมเป็นใหญ่เป็นประธานของรูปทั้งหลาย ที่ปรากฏเป็นที่ตั้งที่พอใจ ที่ยินดี ท่านที่พอใจในเสื้อผ้า อาภรณ์เครื่องใช้ต่างๆ วัตถุต่างๆ ย่อมจะปราศจากธาตุดินไม่ได้ เมื่อกระทบสัมผัสดูก็ เป็นลักษณะอาการของธาตุดิน คือธาตุที่อ่อนที่แข็ง แต่ว่าโดยนัยของสมถภาวนานั้น ต่างกับโดยนัยของวิปัสสนาภาวนา สำหรับวิปัสสนาภาวนานั้น ระลึกรู้ลักษณะของเย็นร้อน อ่อนแข็ง ตรึงไหว ซึ่งเป็นมหาภูตรูป ๓ ที่สามารถกระทบสัมผัสทางกายได้ แล้วสำหรับปฐวีนั้น เป็นธาตุที่ปรากฏลักษณะที่อ่อนหรือแข็ง ในขณะที่กระทบสัมผัส ผู้ที่เจริญสติปัฏฐาน ระลึกศึกษา รู้ลักษณะสภาพของธาตุ ที่เพียงอ่อนเพียงแข็งจริงๆ ที่กำลังปรากฏ รู้ว่าขณะนั้น ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล จิตสงบจากการยึดถือ ธาตุที่อ่อนที่แข็งที่ปรากฏ ว่าเป็นเรา ของเรา หรือว่าเป็นวัตถุ สิ่ง ๑ สิ่งใด นีเป็นโดยนัยของวิปัสสนาภาวนา แต่ว่าสำหรับผู้ที่อบรมเจริญสมถภาวนา ก่อนการตรัสรู้ของพระผู้มีพระภาค รู้ว่าจิตของท่านเหล่านั้น มีกิเลสมาก มี่ปัจจัยให้อกุศลเกิดมาก มีความยินดีพอใจไม่ว่าจะในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ที่ปรากฏทางตาทางหูทางจมูกทางลิ้นทางกาย เพราะฉะนั้น การที่จะให้จิตสงบ ก็โดยการที่จะไม่ให้จิตตกไป ตรึกไป นึกถึง รูปร่างสัณฐานของรูปทั้งหลาย ที่ปรากฏ แล้วก็เกิดความยินดี พอใจขึ้น เพราะฉะนั้น ท่านเหล่านั้น เพื่อที่จะให้จิตสงบ จึงใช้ปฐวี หรือดิน ทำเป็นกสิณคือวงกลม ให้ได้สีที่จะทำให้จิตสงบ ตั้งมั่น ไม่น้อมตรึกนึกถึงรูปร่างสัณฐานอื่นๆ เพราะเหตุว่า ถ้าสีไม่สม่ำเสมอ ก็
อาจจะทำให้นึกถึงรูปร่างต่างๆ ได้ ถ้าท่านมองดิน อาจจะเห็น เป็นรูปอะไรก็ได้ ใช่ไหมคะ แล้วแต่ท่านจะคิดไป ว่าเป็นรูปหน้า รูปจมูก รูปตา รูปอะไรก็ได้ เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นลักษณะของดินซึ่ง เกลี้ยง กลึงอย่างดี ปราศจากธุลีละออง ที่จะทำให้เกิดเป็นสัณฐานต่างๆ ก็จะทำให้จิตของผู้ที่นึกถึงปฐวี คือน้อมนึกถึงเพียงธาตุดิน ว่าทุกสิ่งทุกอย่าง ก็จะไม่พ้นไปจากธาตุดินเท่านั้นเอง ที่ตั้งของความยินดีพอใจทั้งหลาย ของรูปธรรมทั้งหลายนั้น แท้ที่จริงแล้ว ก็เป็นแต่เพียง อาการปรากฏลักษณะต่างๆ ของธาตุดิน ที่ร่างกาย ที่ตัว ก็เป็นแต่เพียงอาการปรากฏ ลักษณะ ๑ ของธาตุดิน ที่วัตถุ สิ่งต่างๆ ซึ่งเป็นที่ตั้งของความยินดีพอใจ ก็เป็นอาการต่างๆ สัณฐานต่างๆ ของธาตุดินนั่นเอง เพราะฉะนั้น ถ้าเพียงน้อมนึกถึงความเป็นดิน เท่านั้น จิตก็จะสงบ เพราะฉะนั้น ท่านที่เข้าใจ เรื่องของการเจริญสติปัฏฐานแล้ว ก็คงจะไม่มีใครไปเจริญ สมถภาวนาที่เป็นกสิณ เพราะเหตุว่า ลักษณะอ่อนแข็งซึ่งเป็นธาตุที่มีจริง เป็นสภาพธรรม ที่ไม่ใช่ตัวตน สัตว์ บุคคล กำลังปรากฏอยู่แล้ว ในขณะนี้ ให้สติระลึก ศึกษาจนกว่าจะละคาย การที่เคยยึดถืออ่อนหรือแข็งนั้น เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นวัตถุ สิ่ง ๑ สิ่งใด โดยที่ไม่จำเป็นต้องไปน้อมระลึกถึง ความเป็นแต่เพียงธาตุดินโดย อาศัยปฐวีกสิณ ท่านก็สามารถที่จะอบรมเจริญปัญญา ระลึกรู้ลักษณะของปฐวี คือธาตุดินที่กำลังปรากฏ ทางกายในขณะนี้ได้