อสุภ ๑๐ โดยนัยที่ต่างกันของสมถะกับวิปัสสนา


    แต่ว่าสำหรับโดยนัย ของวิปัสสนาภาวนา อสุภ ๑๐ เตือนให้สติ ระลึกรู้ถึงลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เพราะเหตุว่า เป็นกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เพราะฉะนั้น โดยนัยของสมถภาวนา กับโดยนัยของวิปัสสนาภาวนานั้นต่างกันคือ สมถภาวนา มุ่งที่จะให้จิต ตั้งมั่นโดยอาศัย อสุภ เป็นอารมณ์ ที่จะตรึกนึกถึงวิตกอยู่เรื่อยๆ ในลักษณะของ อสุภ ที่ปรากฏจนกระทั่งเกิดนิมิตซึ่งหมายความถึง ว่าจิตสงบ เพราะมีอสุภ นั้น เป็นอารมณ์โดยชัดเจน ตามปกติธรรมดา มีใครชอบดู อสุภ บ้างไหมคะ /ไม่มีใครชอบเลย เพราะฉะนั้น ก็แสดงอยู่แล้วว่าจิตไม่สงบ ขณะที่เห็น อสุภ ใช่ไหมคะ ตามปกติ ไม่ใช่ว่าความสงบอยู่ที่อสุภ อย่าลืม ว่า ความสงบไม่ใช่อยู่ที่อารมณ์ ซึ่งเป็นสมถกรรมฐาน แต่อยู่ที่ปัญญาของผู้ที่มี โยนิโสมนสิการ รู้ว่าเหตุใด จิตจึงสงบได้ เมื่อเห็น อสุภ เพราะฉะนั้น ถ้าจิตของใคร ยังไม่สงบอยู่ ในขณะที่เห็น อสุภ ก็จะต้องรู้ตามความเป็นจริง ว่าขณะนั้นต่อ ให้ไปจ้องสักเท่าไร ก็ไม่สงบ จนกว่าปัญญาจะ มนสิการได้ถูกต้องว่า เมื่อเห็น อสุภ แล้ว สงบได้เพราะอย่างไร เมื่อรู้ว่าจิตสงบ เพราะอสุภ นั้น จึงสามารถที่จะสงบขึ้นอีกได้ ในคราวต่อๆ ไป เมื่อเห็น อสุภ โดยมากเด็กๆ ย่อมกลัวซากศพ แต่พอเป็นผู้ใหญ่ขึ้น ก็แล้วแต่ ว่าจะมี โยนิโสมนสิการ แล้วหรือยัง ถ้ายังไม่มีโยนิโสมนสิการ ก็ไม่สามารถที่จะเกิดความสงบได้ เพราะฉะนั้น ก็แล้วแต่ แต่ละท่านว่า จิตของงท่านสงบ แล้วหรือยัง ในขณะที่เห็น อสุภ ซึ่งบุคคลอื่น ไม่สามารถที่จะรู้ได้ เพราะฉะนั้น เป็นการไม่ถูกต้อง ที่จะชักชวนใครต่อใครก็ตาม ว่าไปทำสมถะกันเถอะ โดยที่มีอารมณ์นั้น อารมณ์นี้ เป็นอารมณ์ ให้ไปจดจ้องที่อารมณ์นั้น อารมณ์นี้ เพราะเหตุว่าบางคนเกิด อกุศลจิต แทน กุศลจิต ไม่สงบเลย ดูทั้งวันก็ไม่สงบ ก็เป็นไปได้ แต่ว่าโดยนัยของวิปัสสนาภาวนา ในมหาสติปัฏฐาน ทุกบรรพ ที่พระผู้มีพระภาค ทรงแสดงไว้ เพื่อให้ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ตามความเป็นจริงเพราะเหตุว่า คงจะไม่มีใครหลีกเลี่ยง การพบเห็น อสุภ ได้ในชีวิตประจำวัน ใช่ไหมคะ ต้องมีการเห็น บางคนก็กระทบสัมผัสถูกต้อง อสุภ นั้นด้วย เพราะฉะนั้น สภาพธรรม ที่กำลังปรากฏ ในขณะนั้น แม้เป็น อสุภ เคยเห็น เคยยึดถือว่าเป็น อสุภ แต่ว่าตามความเป็นจริงแล้ว ลักษณะของสภาพธรรมที่ปรากฏนั้น ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ขณะที่สติระลึกตรง ลักษณะของสภาพธรรม ศึกษารู้ชัดในลักษณะที่เป็น รูปธรรม และนามธรรมในขณะที่กำลังประสบกับ อสุภ นั้น ไม่ว่าจะทางตา หรือทางจมูก หรือทางกายก็ตาม ขณะนั้นสติสามารถที่จะระลึกศึกษา รู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ตามความเป็นจริงได้ นี้โดยนัยของวิปัสสนาภาวนา


    หมายเลข 4810
    3 ส.ค. 2567