ปรมัตถธรรมมีลักษณะเฉพาะของตน


    ถ้าบอกว่า “โทสะ” ทุกคนรู้จักใช่ไหม นั่นคือลักษณะของโทสะ แม้ว่าเราจะไม่เอ่ยชื่อเลย ลักษณะของโทสะก็ต่างกับลักษณะของโลภะ ความติดข้องกับความไม่ชอบใจ ไม่ต้องการสิ่งนั้น เป็นลักษณะที่มีจริงๆ และก็ต่างกันด้วย เพราะฉะนั้น เวลาที่พูดถึงสิ่งที่มีจริง จะมีลักษณะเฉพาะอย่างๆ ไม่มีใครสามารถ เปลี่ยนแปลงแก้ไข บังคับบัญชา หรือว่าสร้างขึ้นมาได้เลย จึงมีอีกคำหนึ่งว่า “ปรมัตถธรรม” เป็นธรรมที่มีลักษณะเฉพาะของตนๆ ซึ่งใครก็เปลียนแปลงไม่ได้ จะรู้เมื่อไหร่ รู้เมื่อมีปัจจัยปรุงแต่งเกิดขึ้นแล้วปรากฏ นี่พูดยาว แต่ถ้าจะพูดสั้นก็คือ “เมื่อปรากฏ” ทุกคนจะต้องโกรธ ขั้นขุ่นใจเล็กๆ น้อยๆ มีไหม โกรธแรงๆ มีไหม แล้วถ้ามีปัจจัยที่จะให้โกรธแรงแล้วขอให้โกรธน้อยลงได้ไหม ก็ไม่ได้ เพราะว่าสิ่งนั้นเกิดแล้วเป็นแล้วอย่างนั้น

    เพราะฉะนั้น ทุกอย่างให้ทราบว่า ไม่มีใครบังคับบัญชาได้เลย ตั้งใจจะไม่โกรธได้ไหม บางคนฟังเผินอาจจะบอกว่าได้ เพราะว่าเราตั้งใจไว้แล้วว่าเราจะไม่โกรธ ใครมายั่วแหย่ยังไง เราก็จะไม่โกรธ เราก็คิดว่าเราตั้งใจไว้ได้ แต่จริงๆ แล้ว แม้คิดก็เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย และขณะนั้นยังไม่มีปัจจัยพอจะเกิดโกรธ ไม่ใช่หมายความว่าเพราะเราตั้งใจไว้ เป็นเราที่ตั้งใจไว้แล้ว และก็เป็นอย่างที่เราตั้งใจ แต่เพราะเหตุขณะนั้นยังไม่มีปัจจัยพอที่ความโกรธนั้นจะเกิด

    เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นผู้ที่มั่นคง เข้าใจตั้งแต่เบื้องต้น ทุกอย่างเกิดตามเหตุตามปัจจัย เราก็จะรู้ได้เลยว่า ค่อยๆ คลายความเป็นเรา แม้ในขั้นเข้าใจ ก็จะเข้าใจขึ้น ปัญหาต่างๆ ที่คิดว่าความคิดก็เป็นเรา เรากะไว้ว่าเราจะทำอะไรแล้วก็ทำได้ แต่จริงๆ ขณะที่คิดเกิดแล้วดับ แต่สิ่งใดที่จะเกิดต่อไปก็ตามเหตุตามปัจจัยทั้งนั้น ไม่ใช่หมายความว่าเพราะเราไปวางแผนการแล้วสิ่งนั้นก็เกิดขึ้นตามที่เราคิด เมื่อมีปัจจัยเท่านั้นสิ่งนั้นๆ จึงจะเกิดขึ้นได้ คิดๆ ได้ทุกเรื่อง

    ใครคิดอยากจะเป็นพระโสดาบัน ก็คิดไป แต่ไม่มีเหตุปัจจัยที่ปัญญาสามารถที่จะบรรลุถึงความเป็นพระโสดาบัน ความเป็นพระโสดาบันก็มีไม่ได้ จริงๆ แล้วให้มีความมั่นคงว่าเป็นธรรมซึ่งเป็นปรมัตถธรรม ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร และก็ทุกอย่างที่จะเกิดเป็นอย่างไร โลภะจะน้อย โทสะจะมาก จะมีความริษยาเกิดขึ้น จะมีความสำคัญตนต่างๆ เกิดขึ้น ในกาลต่างๆ ก็เพราะเหตุว่า มีเหตุปัจจัยที่จะให้สภาพนั้นๆ ปรากฏเกิดขึ้นเป็นอย่างนั้นก็จะเป็นอย่างอื่นไม่ได้


    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 2


    หมายเลข 4900
    4 ก.ย. 2567