จิตมีประเภทเดียวหรือหลากหลายประเภท
ท่านอาจารย์ วันหนึ่งๆ มีจิตประเภทเดียว หรือหลายประเภท จิตเกิดขึ้นอย่างเดียวซ้ำๆ กันทั้งวัน หรือว่าหลากหลาย
อ.วิชัย เกิดขึ้นหลากหลาย อย่างเช่น เห็นบ้าง ได้ยินบ้าง ดีใจบ้าง เสียใจบ้าง ต่างๆ เหล่านี้
ท่านอาจารย์ แล้วอะไรทำให้จิตเกิดขึ้นหลากหลาย
อ.วิชัย เป็นความเข้าใจส่วนหนึ่งว่า คงมีหลายประเภทเพราะเหตุว่า อารมณ์ก็มีต่างกัน อย่างเช่น สิ่งที่ปรากฏทางตา หรือว่าเสียง หรือว่ากลิ่น ขณะนี้ ซึ่งจิตก็มีสภาพรู้ที่รู้สีบ้าง ได้ยินเสียงบ้าง แล้วก็รู้กลิ่นบ้าง ดังนั้นจิตก็มีหลายประเภท
ท่านอาจารย์ จิตที่เห็นเกิดแล้วดับ เพราะฉะนั้น จะเป็นจิตที่ได้ยินได้ไหม ไม่ได้ จิตที่ได้ยิน เกิดแล้วดับ เพราะฉะนั้น จะเป็นจิตที่คิดนึกได้ไหม ไม่ได้ นี่ก็แสดงให้เห็นว่าจิตมากมาย หลากหลายประเภท แล้วก็ต่างกัน แม้ว่าจิตของแต่ละคนในแต่ละวันจะต่างกัน หรือว่าเหมือนกัน ในวันหนึ่งๆ จะมีจิตซึ่งเกิดแล้วก็ดับไป เกิดแล้วก็ดับไป
เพราะฉะนั้น ไม่มีจิตเก่า ที่ดับไปแล้ว กลับมาเกิดได้อีกเลย นี่คือการที่เราเริ่มจะมองเห็นว่าชีวิตตามความเป็นจริง คือเกิดแล้วก็ไป ทุกขณะ จิตก็ไปสู่อารมณ์ หมายความว่าจิตเป็นสภาพที่ต้องรู้ เพราะฉะนั้น จะขาดสิ่งที่ถูกรู้ไม่ได้ เมื่อรู้อารมณ์แล้วก็ดับไป รู้อารมณ์แล้วก็ดับไป มีอะไรเหลือบ้าง ตั้งแต่เกิดมา จนกระทั่งถึงเมื่อวานนี้ จนกระทั่งถึงวันนี้ จนกระทั่งถึงเมื่อกี้นี้ มีอะไรเหลือบ้าง คิดว่ามีใช่ไหม คิดว่ายังเหลืออยู่ แต่ว่าตามความเป็นจริงไม่มีอะไรเหลืออยู่เลย ไม่มีอะไรที่สามารถที่จะคงอยู่ ให้มีใครไปยึดถือว่าเป็นของเราได้ อย่างได้ยินเมื่อกี้นี้ หมดไหม จิตเป็นสภาพที่ได้ยินเสียง เกิดขึ้นได้ยินแล้วก็ดับไป ไม่มีอีกแล้ว
จิตที่ดับไปจะกลับมาอีกไม่ได้เลย ขณะที่ได้ยินใหม่ ก็อาศัยปัจจัยใหม่ อาศัยเสียงใหม่ อาศัยโสตปสาทใหม่ เพราะว่าแม้แต่รูปก็เกิดดับด้วย เพียงแต่รูปจะมีอายุยาวกว่าจิตคือ จิตเกิดดับ ๑๗ ขณะ รูปๆ หนึ่งจึงดับ แต่เร็วแสนเร็วจนกระทั่งไม่ต้องคิดเลย เพราะว่าขณะที่เสมือนว่าเห็นด้วยได้ยินด้วย ความจริงสองจิตนี้ห่างกันเกิน ๑๗ ขณะ ในขณะนี้ซึ่งปรากฏเหมือนกับว่าทั้งเห็นทั้งได้ยิน เพราะฉะนั้น รูปจะเกิดดับเร็วสักแค่ไหน เราคิดว่ารูปจะดับช้า แต่ไม่จริงเลย ดับเร็วมาก แต่ความไม่รู้ก็ไม่สามารถจะรู้ความจริงใดๆ ได้เลยทั้งสิ้น
ที่มา ...