กุศลธรรมเป็นปกตูปนิสสยปัจจัยให้เกิดกุศลธรรม
ซึ่งจะขอกล่าวถึงตามลำดับ พอสมควรที่จะให้เข้าใจลักษณะของปกตูปนิสสยปัจจัย
เช่นข้อที่ว่ากุศลธรรมเป็นปกตูปนิสสยปัจจัยให้เกิดกุศลธรรม
ท่านผู้ฟังที่มีสัทธาเกิดขึ้นสะสมมาเป็นผู้ที่มีอุปนิสัย มีสัทธาในการที่จะให้ทานไม่ใช่ตัวตนไม่ใช่สัตว์ไม่ใช่บุคคลเลย ขณะใดที่จิตเกิดขึ้นมีสัทธาเป็นไปในทานประเภทใด สติสามารถที่จะระลึกรู้ว่าในขณะนั้นเป็นสภาพธรรมซึ่งเกิดขึ้นเพราะกุศลในอดีตซึ่งเคยให้ทานมาแล้วในอดีต เป็นปกตูปนิสสยปัจจัยให้ทานกุศลในขณะนี้เกิดขึ้น และจะเพิ่มพูนยิ่งขึ้นด้วย
ถ้าท่านที่มีสัทธาในการฟังพระธรรมในการศึกษาธรรม ในการพิจารณาธรรมในการอบรมเจริญปัญญา ในการเจริญสติปัฏฐาน กุศลเหล่านี้จะเป็นปกตูปนิสสยปัจจัยให้เกิดวิปัสสนาญาณแต่ละขั้นตามลำดับ หรือสำหรับท่านผู้ใดก็ตามซึ่งในขณะนี้วิปัสสนาญาณเกิดขึ้น ก็ให้ทราบว่าเพราะกุศลก่อน ๆ ที่ได้กระทำสะสมมาแล้วเป็นปกตูปนิสสยปัจจัยคือ เป็นปัจจัยโดยสภาพที่มีกำลังตามปกติที่จะให้วิปัสสนาญาณในขณะนี้เกิดขึ้น ถ้าไม่มีสภาพธรรมในอดีตที่สะสมมาที่มีกำลังพร้อมที่จะให้สภาพธรรมในขณะนี้เกิดขึ้นเป็นไปอย่างนี้สภาพธรรมในขณะนี้ก็จะเกิดขึ้นเป็นไปอย่างนี้ไม่ได้
เพราะฉะนั้นไม่ว่าท่านผู้ฟังจะมีสัทธาในการกุศลในขั้นใด เช่น ในทานต่าง ๆ ประเภทต่าง ๆหรือในศีลต่าง ๆ ไม่ว่าจะศีล ๕หรือศีล ๘หรือว่าศีล ๒๒๗ ก็เป็นเพราะอดีตกุศลเคยสะสมมาด้วยดีจนเป็นปกติที่จะทำให้สภาพกุศลประเภทนั้น ๆ เกิดขึ้น
ด้วยเหตุนี้ข้อความในพระไตรปิฎก เมื่อเวลาที่บุคคลหนึ่งบุคคลใดมีกิริยา หรือมีการกระทำอย่างหนึ่งอย่างใด เป็นเหตุให้พระภิกษุกราบทูลพระผู้มีพระภาคถึงเรื่องของบุคคลนั้น พระผู้มีพระภาคจะทรงแสดงว่าแม้การกระทำนั้น ๆ ของบุคคลนั้นในปัจจุบันชาตินี้ ก็ได้เคยกระทำมาแล้วในอดีตเช่นเดียวกัน
เพราะฉะนั้นในชาดกต่าง ๆหรือในประวัติของพระสาวกต่าง ๆ ก็จะเห็นได้ว่ากุศลธรรมทั้งหลายที่เกิดขึ้นกับท่านในชาตินี้ ไม่ได้เพียงเกิดขึ้นกับท่านเฉพาะในชาตินี้ แต่ว่าเคยเกิดขึ้นเป็นไป ได้เคยกระทำมาแล้วในอดีตชาติจนเป็นปกติ เป็นอุปนิสัย เป็นสภาพธรรมที่มีกำลังทำให้กุศลนั้น ๆ เกิดขึ้นอีกในปัจจุบันชาตินี้