กุศลเป็นปกตูปนิสสยปัจจัยให้เกิดอกุศลเกิดได้


    กุศลเป็นปกตูปนิสสยปัจจัยให้เกิดอกุศล เป็นไปได้นะคะเช่นโลภเจตสิกสามารถที่จะพอใจในทุกสิ่งทุกอย่างได้ หรือสภาพธรรมที่เป็นอกุศลคือ มานเจตสิก ความสำคัญตน ก็สามารถที่จะเกิดขึ้นเพราะชาติสกุลทรัพย์สมบัติรูปสมบัติหรือวิชาความรู้ก็ได้

    เพราะฉะนั้นการอบรมเจริญสติปัฏฐานจะทำให้รู้ลักษณะของจิตจริง ๆ ว่า ขณะใดอกุศลเกิดคั่นกุศลบ้าง

    สำหรับกุศลเป็นปกตูปนิสสยปัจจัยให้เกิดอกุศลนั้นก็เป็นเพราะเหตุว่า อกุศลยังไม่ได้ดับไป เพราะฉะนั้นบางท่านเป็นผู้ที่มีสัทธาในพระศาสนา มีการศึกษาธรรม มีความรู้ในธรรมที่ได้ศึกษาแต่ว่าเกิดมานะเพราะกุศลเป็นปกตูปนิสสยปัจจัยให้เกิดอกุศลได้

    บางท่านคิดว่าท่านเข้าใจธรรมแจ่มแจ้งดีกว่าบุคคลอื่น ถึงแม้ว่าเป็นความจริง ก็ไม่ควรที่จะให้เกิดความสำคัญตนขึ้น หรือว่าไม่ควรที่จะให้เกิดการยกตนด้วยโลภะ หรือข่มบุคคลอื่นด้วยโทสะนั่นคือลักษณะของมานะ ไม่ว่าจะเป็นกุศลประเภทหนึ่งประเภทใดก็ตาม เช่นการให้ทานเมื่อให้ไปแล้วบางท่านก็อาจจะยกตนด้วยโลภะ เมื่อพูดถึงทานกุศลซึ่งตนได้กระทำไปแล้ว เป็นกุศลอย่างประณีต เป็นกุศลที่บุคคลอื่นยากที่จะทำได้ ในขณะใดก็ตามที่มีการยกตนให้ทราบว่าในขณะนั้นเป็นเพราะโลภะ โดยการที่มีสัทธาและมีกุศลนั่นเอง เป็นปกตูปนิสสยปัจจัย หรือในขณะที่ข่มบุคคลอื่นด้วยโทสะ ขอให้สังเกตลักษณะสภาพของจิต เวลาที่ข่มบุคคลอื่น ถ้าเป็นผู้ที่มีเมตตาต่อคนอื่นจะข่มบุคคลอื่นไม่ได้เลย ไม่ว่าด้วยการกระทำกุศลใด ๆ หรือไม่ว่าด้วยสัทธาของตน หรือด้วยสติปัญญาของตนก็ตาม แต่ขณะใดก็ตามที่มีการข่มบุคคลอื่นแสดงว่าตนเองรู้มากกว่า และบุคคลอื่นรู้น้อยกว่า ในขณะนั้นให้ทราบว่าแม้กุศลนั้นเอง ก็เป็นปกตูปนิสสยปัจจัยที่ทำให้เกิดอกุศล เช่นความสำคัญตน เกิดมานะขึ้นได้

    นอกจากนั้นบางท่านแม้ว่าจะได้ศึกษาธรรมขั้นสูง เช่นบางท่านก็ได้ศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ หรืออภิธรรมปิฎก เกิดความเห็นผิดได้ เพราะเหตุว่าขาดการพิจารณาไตร่ตรอง โดยละเอียดในธรรมที่ได้ศึกษา

    เพราะฉะนั้นที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงเรื่องของปกตูปนิสสยปัจจัย ก็เพื่อความไม่ประมาทจริง ๆ ถ้าขณะใดที่ได้เป็นผู้ที่ได้ศึกษาพระอภิธรรม หรือพระสูตร หรือว่าพระวินัยก็ตาม แต่เกิดความเห็นผิด ความเข้าใจผิดในข้อประพฤติปฏิบัติ ซึ่งไม่ใช่ทางที่จะดับกิเลสเป็นสมุจเฉทได้ ให้ทราบว่าในขณะนั้นเป็นเพราะกุศลเป็นปกตูปนิสสยปัจจัยให้เกิดอกุศล

    ไม่ใช่ว่าบุคคลนั้นไม่มีกุศล บุคคลนั้นมีกุศล มีสัทธาที่จะศึกษาธรรม มีความเข้าใจเรื่องของจิตเจตสิกตามที่อ่านแต่เพราะเหตุว่าขาดการพิจารณาโดยละเอียด โดยถี่ถ้วน ก็เป็นปัจจัยให้เกิดความเห็นผิดได้ และเมื่อเป็นปัจจัยให้เกิดความเห็นผิด ยึดมั่นในความเห็นผิด ก็เป็นเพราะปกตูปนิสสยปัจจัยนั่นเอง

    ท่านผู้ฟังจะเห็นได้ว่า ผู้ที่เป็นพุทธศาสนิกชนมีสัทธาในพระศาสนาหลายขั้น และถึงแม้ว่าจะเป็นผู้ที่มีสัทธาในพระศาสนาแต่อาศัยสัทธานั่นเองทำให้เกิดยึดมั่นในความเห็นผิดต่าง ๆ ซึ่งไม่ตรงกับพระธรรมที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดง ที่เป็นอย่างนี้ก็เป็นเพราะปกตูปนิสสยปัจจัย


    หมายเลข 4959
    28 ส.ค. 2558