ฟังพุทธประวัติมากขึ้น ซาบซึ้งในพระพุทธคุณมากขึ้น


    เวลาที่ฟังธรรม แล้วก็ลักษณะของความสงบของจิตยังไม่ปรากฏ ก็ต้องฟังธรรมประการอื่นๆ นัยอื่นๆ เพื่อที่จะให้ได้ทราบว่าขณะนั้น เมื่อได้ฟังมากขึ้นแล้ว จะสงบมากขึ้นไหม

    เพราะฉะนั้น การที่จะระลึกถึงพระคุณของพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ถ้าระลึกเอง อาจจะระลึกไม่ออก ลองดูสิว่าเดี๋ยวนี้ จะระลึกอย่างไร แต่ถ้าได้ฟังประวัติของพระผู้มีพระภาค มากขึ้น จะเห็นพระกรุณาคุณของพระองค์ที่ได้ทรงบำเพ็ญพระบารมี เพื่อที่จะได้รู้แจ้ง อริยสัจธรรม ที่จะอนุเคราะห์เกื้อกูลสัตว์โลกทั้งหลายให้รู้แจ้งอริยสัจธรรม เช่นพระองค์ด้วย ถ้าได้ฟัง อดีตประวัติของพระองค์ ความทราบซึ้งในพระคุณของพระองค์ย่อมมีเพิ่มขึ้น แล้วในขณะนั้น ก็จะปรากฏลักษณะที่สงบขึ้น

    เพราะฉะนั้น ในวันนี้ขอกล่าวถึงในอดีตชาติเมื่อครั้งที่พระผู้มีพระภาค เป็นสุเมธดาบส ซึ่งเป็นพระชาติที่ได้รับการพยากรณ์ว่า พระองค์จะเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งก็ต้องย้อนถอยไป ๔ อสงไขยแสนกัปป ซาบซึ้งไหมว่า บุคคล ๑ ได้ตั้งความปรารถนาที่จะเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แท้ที่จริงแล้วเคยทรงปรารถนาก่อนนั้น แต่ว่าความปรารถนานั้นยังไม่มั่นคง จึงยังไม่ได้รับการพยากรณ์จากพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์หนึ่ง พระองค์ใด ในบางกาลที่ได้เห็นพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งกำลังทรงแสดงธรรม พระองค์ก็เคยปรารถนาที่จะเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่ว่าความปรารถนาที่เริ่มเกิดนั้นยังไม่มีกำลัง ต้องเจริญกุศล แล้วก็ได้เฝ้า ได้ฟังธรรมอีก ได้เห็นประโยชน์อีก จนกระทั่งมีความปรารถนาที่มั่นคง แล้วก็เมื่อได้สะสมบุญบารมีมาพอที่จะได้รับการพยากรณ์ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์หนึ่งก็จะทรงพยากรณ์ว่า บุคคลนั้นจะมีบารมีพร้อมที่จะเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าในกาลข้างหน้า แต่ว่า ๔ อสงไขยแสนกัปป สำหรับพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าที่จะบรรลุพระอนุตรสัมโพธิญาณด้วยพระปัญญา เพราะเหตุว่าบางพระองค์ก็ทรงบรรลุด้วยวิริยะ บางพระองค์ก็ทรงบรรลุด้วยศรัทธา ซึ่งก็ต้องอาศัยกาลเวลาที่มากกว่า

    สำหรับการที่จะอบรมด้วยปัญญาสำหรับการที่จะบรรลุเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นด้วยพระปัญญานั้นต้องอาศัยพระบารมีที่ต้องอบรมถึง ๔ อสงไขยแสนกัปป เริ่มซาบซึ้ง เริ่มสงบหรือไม่ เมื่อย้อนถอยไปถึง ๔ อสงไขยกัปปกับอีกแสนกัปปแห่งภัทรกัปนี้

    ข้อความในนิทานกถา อรรถกถาธัมมสังคณี ชื่อ อรรถสาลินี มีว่า ได้มีนครชื่อว่า อมรวดี พราหมณ์นามว่า สุเมธ ซึ่งเกิดบริสุทธิ์ดี ทั้ง ๒ ฝ่าย คือฝ่ายมารดา ๑ ฝ่ายบิดา ๑ ประสูติจากครรภ์อันบริสุทธิ ใครๆ กล่าวคัดค้านไม่ได้ ไม่มีใครรังเกียจด้วยชาติตระกูล กระทั่งถึงเครือตระกูลที่ ๗ มีรูปงาม น่าทัศนา น่าเลื่อมใส ประกอบด้วยความเป็นผู้มีรูปสมส่วนอย่างยิ่ง พราหมณ์นั้นไม่ทำการงานอย่างอื่น ได้แต่เรียนศิลปสำหรับพราหมณ์อย่างเดียว ในกาลที่พราหมณ์นั้นยังเด็กอยู่นั่นแล มารดา บิดาก็ทำกาลกิริยา ทีนั้น อำมาตย์ ชื่อว่า ราสิวัดถกะ นำบัญชีส่วยมาให้พราหมณ์นั้น แล้วเปิดคลัง ที่เต็มด้วย ทอง เงิน แก้วมณี และมุกดาเป็นต้นแล้ว บอกทรัพย์ กระทั้งถึง ๗ ชั่วตระกูลว่า "ดูกรกุมาร ทรัพย์ของมารดา และบิดาของเธอเท่านี้ ของตา และยายเท่านี้ แล้วพูดว่าเธอจงคุ้มครองทรัพย์นี้ " สุเมธผู้เป็นบัณฑิต คิดว่า "บิดา และปู่เป็นต้นของเรา อุตสาห์รวบรวมทรัพย์นี้ไว้แล้ว เมื่อจะไปยังปรโลก ก็ไม่ได้ถือเอา แม้กหาปณะ ๑ ไป แต่ว่าเราชอบที่จะทำเหตุแห่งการที่จะถือเอาไปได้ " ดังนี้แล้ว จึงกราบทูลแก่พระราชา ให้ตีกลอง ป่าวประกาศในนคร ให้ทานแก่มหาชน แล้วบวชเป็นดาบส

    ทรัพย์ที่ทุกท่านมีอยู่ จะถือเอาไปโลกอื่นได้หรือไม่ ถ้าไม่รู้วิธี ก็เอาไปไม่ได้เลย แต่ว่าถ้ารู้วิธีก็สามารถเอาไปด้วยได้ คือ ด้วยการบำเพ็ญบุญกุศล ท่านผู้ฟังก็จะเห็นได้ว่า พระผู้มีพระภาค ทรงมีศรัทธาที่จะเจริญพระบารมี ด้วยความที่ไม่มีความปรารถนาติดข้องในทรัพย์ซึ่งบรรพบุรุษได้แสวงหามา แต่กลับเห็นว่าบรรพบุรุษของพระองค์นั้น อุตสาห์รวบรวมทรัพย์นี้ไว้ แต่เมื่อไปยังปรโลกก็ไม่ได้ถือเอาไป แม้กหาปณะหนึ่ง


    หมายเลข 4967
    7 ก.ย. 2567