มิตรไม่มีประโยชน์เป็นเหตุหาคบได้ยาก
ในสัทธัมมปัชโชติกา อรรถกถาขัคควิสาณสุตตนิทเทส คาถาที่ ๑๑ แห่ง ขุททกนิกาย มีข้อความตอน ๑ ซึ่งกล่าวว่า มิตรทั้งหลาย มีประโยชน์ เป็นเหตุ จึงจะคบหาสมาคมด้วย มิตรในวันนี้ไม่มีเหตุ หาได้ยาก มนุษย์ ทั้งหลายมีปัญญามุ่งประโยชน์ตน เป็นคนไม่สะอาด เพราะฉะนั้น พึงเที่ยวไปผู้เดียว เหมือน นอแรด ฉะนั้น ถ้าไม่พิจารณาก็คงจะไม่เห็นชีวิตประจำวัน ของการคบหาสมาคมกัน ทุกวัน นี่นะคะ ซึ่งขอให้ท่านผู้ฟัง นี่คะ ลองพิจารณาดู ชีวิตประจำวัน ซึ่งมีการคบหาสมาคมกันว่า มีเหตุอะไรบ้างไหม จึงได้คบหาสมาคมกัน ประโยชน์ บางครั้งอาจจะเพียงเล็กน้อย แต่ก็ยังเป็นประโยชน์ แม้เพียงเพื่อการไปไหนด้วยกัน ที่คบกัน นี่คะ แม้เพียงเพื่อการไปไหนด้วยกัน ก็เป็นประโยชน์ อัน ๑ คือเพื่อความสบายใจ หรือว่า เพื่อความเพลิดเพลินซึ่งในอรรถกถา มีคำอธิบาย ผู้ศึกษาพึงทราบวินิจฉัยในคาถาที่ ๑๑ ดังต่อไปนี้ บทว่า ภชนฺติ ได้แก่ย่อมเข้าไปนั่งใกล้ เกี่ยวข้องด้วยกาย นี่คือการคบหาสมาคมในชีวิตประจำวัน บทว่า เสเวนฺติ ได้แก่ ย่อมประพฤติด้วยกรรมทั้งหลาย มีอัญชลีกรรม คือการไหว้เป็นต้น และความเป็นผู้ซ้องเสพเหตุ ที่จะพึงกระทำประโยชน์ เป็นเหตุของมิตรเหล่านี้ เพราะเหตุนั้น มิตรเหล่านี้จึงชื่อว่า มีประโยชน์ เป็นเหตุ อธิบายว่าเหตุแห่งการคบ และการซ้องเสพ หาเป็นอย่างอื่นไปไม่ มีคำที่ท่านอธิบายไว้ว่า ชนทั้งหลายย่อมเสพซึ่งมิตรเหล่านี้ เพราะเหตุ คือว่า เพราะเหตุแห่งตน คือไม่พ้นความเป็นตน เพราะประโยชน์ ของตนอย่างใดอย่าง ๑ ซึ่งพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงคบเพื่อ อนุเคราะห์ นี่เป็นการต่างกัน ของการคบ บทพระคาถาว่า นิกฺการณา ทุลฺลภา อชฺชมิตฺตา ความว่ามิตรทั้งหลายที่ไม่มีเหตุ เพราะเหตุแห่งการได้ประโยชน์ อย่างนี้ ว่า เราจะได้อะไรจากมิตรนี้ ดังนี้ ประกอบด้วยความเป็นมิตรอย่างประเสริฐ ท่านแสดงถึงลักษณะของมิตรที่หายากว่า ไม่ได้หวังอะไรจากมิตร ในการคบ มิตรใดมีอุปการะ ๑ มิตรใดร่วมสุขร่วมทุกข์ ๑ มิตรใดใคร่ประโยชน์ ๑ มิตรใดมีความอนุเคราะห์ ๑ ดังนี้อย่างเดียว เป็นผู้หายาก ชื่อว่ามิตรในวันนี้ ปัญญาของมนุษย์เหล่านี้ ที่สำเร็จแล้วด้วยการมุ่งประโยชน์ ย่อมแลดูตนเท่านั้น หาได้มองดูคนอื่นไม่ เพราะเหตุนั้นปัญญานั้นจึงชื่อว่า ปัญญามุ่งประโยชน์ตน นี่เป็นความละเอียดของสภาพธรรม ในชีวิตประจำวัน ซึ่งจะเห็นได้ว่าตรงกับข้ามกับ สัตตูปการสัมปทา คือการถึงพร้อมที่จะอุปการแก่สัตว์ ด้วยพระอัธยาศัย และพระอุตสาห แม้แก่สัตว์ซึ่งอินทรีย์ คือ ปัญญายังไม่แก่กล้า ซึ่งท่านผู้ฟังเมื่อได้พิจารณาถึงพระปัญญาคุณ พระบริสุทธิคุณ และพระมหากรุณาคุณของพระผู้มีพระภาค แล้ว ก็จะเห็นในความเป็นผู้ประเสริฐสุด ของความเป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งได้ทรงอนุเคราะห์สัตว์โลก หลังจากการที่ได้ตรัสรู้ พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ จนกระทั่งถึง ก่อนที่จะดับขันธ์ปรินิพพาน