ปฐมมหานามสูตร
ได้เรียนให้ทราบแล้ว ว่า ธรรมเป็นสิ่งที่จะต้องประพฤติปฏิบัติ ในชีวิตประจำวัน การปฏิบัติธรรมไม่ผิดไปจากชีวิตประจำวันเลย แล้วแต่ แต่ละท่านว่าจะมีเหตุปัจจัย ให้ ธรรมประเภทใดเกิดขึ้นในพระไตรปิฎก
ในอังคุตตรนิกาย เอกาทสกนิบาต ซึ่งเป็นเรื่องของ อนุสติ ๖ ซึ่งจะเห็นได้ว่า การอบรมเจริญความสงบ ซึ่งเป็น สมถภาวนาในชีวิตประจำวัน สำหรับคฤหัสถ์ทั่วๆ ไปนั้น คืออย่างไร ข้อความใน อังคุตตรนิกาย เอกาทสกนิบาต มหานามะสูตรที่ ๒ ข้อ ๒๑๙ มีข้อความว่า
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ นิโครธารามใกล้พระนครกบิลพัสดุ์ แคว้นสักกะ ก็สมัยนั้นแล เจ้าศากยะพระนามว่ามหานามะ ทรงหายจากประชวร คือหายจากภาวะที่ประชวรไม่นาน ก็สมัยนั้นภิกษุเป็นอันมากกระทำจีวรกรรมเพื่อพระผู้มีพระภาค ด้วยหวังว่า พระผู้มีพระภาคผู้มีจีวรสำเร็จแล้ว จักเสด็จจาริกโดยกาลล่วงไป ๓ เดือน เจ้าศากยะพระนามว่ามหานามะได้ทรงสดับข่าวว่า ภิกษุเป็นอันมากกระทำจีวรกรรมเพื่อพระผู้มีพระภาค ด้วยหวังว่า พระผู้มีพระภาคผู้มีจีวรสำเร็จแล้ว จักเสด็จจาริกโดยกาลล่วงไป ๓ เดือน ครั้งนั้นแล เจ้าศากยะพระนามว่ามหานามะ เสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ทรงถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว ประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉัน ได้ทราบข่าวมาดังนี้ว่า ภิกษุเป็นอันมากกระทำจีวรกรรมเพื่อพระผู้มีพระภาค ด้วยหวังว่า พระผู้มีพระภาคผู้มีจีวรสำเร็จแล้ว จักเสด็จจาริกโดยกาลล่วงไป ๓ เดือน ดังนี้ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันผู้อยู่ด้วยธรรมเครื่องอยู่ต่างๆ พึงอยู่ด้วยธรรมเครื่องอยู่อะไร พระเจ้าข้า นี่พระผู้มีพระภาค ยังไม่ปรินิพพาน เพราะฉะนั้น บรรดาผู้ที่มีความสงสัย ก็มีโอกาสจะได้ไปเฝ้า แล้วก็ทูลถาม ถึง ข้อสงสัย ด้วยตนเองว่า เมื่อพระผู้มีพระภาค เสด็จไปแล้ว ตน ซึ่งเป็นผู้ที่อยู่ด้วยธรรมเครื่องอยู่ต่างๆ นั้น พึงอยู่ด้วยธรรม เครื่องอยู่อะไร ซึ่งทุกท่านก็น่าจะคิด ใช่ไหมคะ ว่าทุกท่านจะอยู่ด้วยธรรมอะไร ในชีวิตประจำวัน พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดีละๆ มหาบพิตร การที่มหาบพิตร เสด็จเข้ามาหาตถาคต แล้วตรัสถามว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันผู้อยู่ด้วยธรรมเครื่องอยู่ต่างๆ พึงอยู่ด้วยธรรมเครื่องอยู่อะไร ดังนี้ เป็นการสมควรแก่มหาบพิตรผู้เป็นกุลบุตร
ดูกรมหาบพิตร กุลบุตรผู้มีศรัทธาย่อมเป็นผู้บริบูรณ์ ผู้ไม่มีศรัทธา ย่อมไม่เป็นผู้บริบูรณ์ ผู้ปรารภความเพียรย่อมเป็นผู้บริบูรณ์ ผู้เกียจคร้านย่อมไม่เป็นผู้บริบูรณ์ ผู้มีสติตั้งมั่นย่อมเป็นผู้บริบูรณ์ ผู้มีสติหลงลืมย่อมไม่เป็นผู้บริบูรณ์ ผู้มีจิตตั้งมั่นย่อมเป็นผู้บริบูรณ์ ผู้ไม่มีจิตตั้งมั่นย่อมไม่เป็นผู้บริบูรณ์ ผู้มีปัญญาย่อมเป็นผู้บริบูรณ์ ผู้มีปัญญาทรามย่อมไม่เป็นผู้บริบูรณ์ ดูกรมหาบพิตร มหาบพิตรทรงตั้งอยู่ในธรรม ๕ ประการนี้แล้วพึงเจริญธรรม ๖ ประการให้ยิ่งขึ้นไป ดูกรมหาบพิตร ในธรรม ๖ ประการนี้ พึงทรงระลึกถึงพระตถาคตว่า แม้เพราะเหตุนี้ แม้เพราะเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกธรรม และพระคุณธรรมข้ออื่นๆ ต่อไป
ดูกรมหาบพิตร สมัยใด อริยสาวกระลึกถึงพระตถาคต สมัยนั้น จิตของอริยสาวกนั้น ย่อมไม่ถูกราคะกลุ้มรุม ไม่ถูกโทสะกลุ้มรุม ไม่ถูกโมหะกลุ้มรุม สมัยนั้นจิตของอริยสาวกนั้นย่อมดำเนินไปตรง ดูกรมหาบพิตร อริยสาวกผู้มีจิตดำเนินไปตรง เพราะปรารภพระตถาคต ย่อมได้ความรู้อรรถ คือผล หรือวิบาก ย่อมได้ความรู้ธรรม คือเหตุ หรือกรรม ย่อมได้ความปราโมทย์อันประกอบด้วยธรรม ปีติย่อมเกิดแก่อริยสาวกผู้มีความปราโมทย์ กายของอริยสาวกผู้มีใจประกอบด้วยปีติย่อมสงบ อริยสาวกผู้มีกายสงบแล้ว ย่อมเสวยสุข จิตของอริยสาวกผู้มีสุขย่อมตั้งมั่น
ดูกรมหาบพิตร มหาบพิตรพึงเสด็จดำเนินเจริญก็ได้ พึงประทับยืนเจริญก็ได้ พึงประทับนั่งเจริญก็ได้ พึงบรรทมเจริญก็ได้ พึงทรงประกอบการงานเจริญก็ได้ พึงประทับบนที่นอนอันเบียดเสียดด้วยพระโอรส และพระธิดาเจริญก็ได้ ซึ่งพุทธานุสสตินี้แล ซึ่งก็เป็นธรรมทุกขณะ อย่าลืม ไม่มีขณะไหนเลย ซึ่งไม่ใช่ธรรม หลายท่านทีเดียว อยากจะพบธรรม อยากจะเห็นธรรม แสวงหาธรรม แต่ว่าธรรมกำลังมีอยู่ในขณะนี้ กำลังปรากฏ ทุกหนทุกแห่ง ทางตาทางหูทางจมูกทางลิ้นทางกายทางใจ ที่บ้าน ที่นี่ ที่นั่น ที่โน้น ที่ไหน ทุกหนทุกแห่ง เป็นสภาพธรรม ทั้งหมด เพราะฉะนั้น ไม่ต้องแสวงหาธรรมเลย เพราะว่าธรรมกำลังปรากฏอยู่แล้ว จะรู้ธรรมก็รู้ในสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้ตามความเป็นจริง จะเห็นธรรม จะเข้าใจธรรม ก็ในสภาพธรรม ที่กำลังปรากฏ ไม่ว่าที่ไหน ด้วยเหตุนี้พระผู้มีพระภาค จึงตรัสกับเจ้าสักกาย พระนามว่า มหานามะ ว่า
มหาบพิตรพึงเสด็จดำเนินเจริญก็ได้ พึงประทับยืนเจริญก็ได้ พึงประทับนั่งเจริญก็ได้ พึงบรรทมเจริญก็ได้ พึงทรงประกอบการงานเจริญก็ได้ พึงประทับบนที่นอนอันเบียดเสียดด้วย พระโอรส และพระธิดาเจริญก็ได้ ซึ่งพุทธานุสตินี้แล ข้อความต่อไปพระผู้มีพระภาค ทรงแสดง ธรรมานุสติ สังฆานุสติ สีลานุสติ จาคานุสติ เทวตานุสติโดยนัยเดียวกัน ข้อความที่พระผู้มีพระภาค ตรัสกับเจ้าสักกายพระนามว่ามหานามะมีว่า ดูกรมหาบพิต สมัยใด อริยสาวก ระลึกถึงพระตถาคต สมัยนั้น จิตของอริยสาวกนั้น ย่อมไม่ถูกราคะกลุ้มรุม ไม่ถูกโทสะกลุ้มรุม ไม่ถูกโมหะ กลุ้มรุม สมัยนั้นจิตของอริยสาวกนั้น ย่อมดำเนินไป ตรง ไม่ได้หมายควมว่าโลภะ ไม่เกิดเลย ในชีวิตประจำวันของพระอริยสาวก หรือผู้ที่อบรมเจริญสติปัฏฐาน ไม่ได้หมายความว่า โทสะไม่ได้เกิดเลย โมหะไม่เกิดเลย แต่ พระผู้มีพระภาค ตรัสว่า จิตของอริยสาวกนั้น ย่อมไม่ถูกราคะกลุ้มรุม มีเหตุปัจจัย ของโลภะ โลภะเกิด แต่ไม่กลุ้มรุม เพราะว่าสติ สามารถที่จะ เป็นผู้ที่มีจิตดำเนินไป ตรง เพราะปรารถพระตถาคต วันหนึ่งๆ ท่านผู้ฟังมีการระลึกถึงพระผู้มีพระภาค บ้างไหม ในขณะนั้น คะ ไม่ถูกโลภะ กลุ้มรุม ไม่ถูกโทสะกลุ้มรุม ไม่ถูกโมหะกลุ้มรุม เป็นผู้ที่มีจิตดำเนินไปตรง เพราะปรารถ พระตถาคต