จิตไม่มีรูปร่าง เกิดดับสืบต่อตั้งแต่เกิดจนตาย
เมื่อวานนี้สิ่งที่เกิดแล้วหมดไป ในความทรงจำของเราคิดว่ายังมีอยู่ แต่ความจริงสิ่งที่ปรากฏทางตาดับ สิ่งที่ปรากฏทางหูดับ สิ่งที่ปรากฏทางจมูกดับ สิ่งที่ปรากฏทางลิ้นดับ สิ่งที่ปรากฏทางกายดับ ความคิดนึกก็คิดทีละหนึ่งคำ จะสองคำไม่ได้ แต่ละคำที่จิตกำลังคิด จิตก็ดับไปดับไปเรื่อยๆ แต่โดยมากเราจะไม่รู้ความจริงอย่างนี้เลย เราคิดว่าจิตดับตอนตายใช่ไหม เกิดมาอาจจะบอกว่าทุกคนมีจิต แต่ก็ยังไม่ชัดเจนว่าจิตคืออะไร อยู่ที่ไหน มีลักษณะอย่างไร แต่เมื่อได้ศึกษาธรรม ก็รู้ว่าจิตไม่มีรูปร่าง ลักษณะใดๆ เลย ไม่เป็นรูปธรรมหนึ่ง รูปธรรมใด เป็นนามธรรมล้วนๆ และก็เกิดดับสืบต่อตั้งแต่เกิดจนตาย และแต่ละขณะก็ไม่ได้จิตเดียวกัน แต่ว่าเป็นจิตที่เกิดขึ้นแล้วก็ดับไปแต่ละขณะ เพราะฉะนั้น ถ้าศึกษาอย่างนี้จะทราบได้ว่าที่เราเรียกว่า ตาย คิดว่าจิตเกิด และก็จิตดับตอนตาย ไม่ถูกต้อง แต่ว่าตามความเป็นจริงแล้วสภาพธรรมใดที่เกิด ดับทันที เร็วมาก และก็ตายที่เรากล่าวถึง เป็นเพียงการสมมติ
เพราะเหตุว่าตราบใดที่ยังมีกิเลส ก็จะยังมีสังสารวัฏฏ์ มีการเกิดสืบต่อ เพราะฉะนั้น เมื่อจิตขณะสุดท้ายดับ ก็เป็นปัจจัยทำให้จิตขณะแรกของชาติต่อไปเกิดขึ้นทันที โดยไม่มีระหว่างขั้น เช่นเดียวกับขณะนี้ จิตก็กำลังเกิดดับสืบต่อกัน ขณะนี้ที่จิตกำลังเห็น กับขณะที่จิตได้ยิน ต่างกัน หรือเหมือนกัน จิตเป็นสภาพรู้ แต่ว่าเวลาที่เราเห็นแล้ว บางคนไม่ชอบเลย สิ่งเดียวกันที่เห็น แล้วบางคนก็ชอบ ทั้งๆ ที่จิตเห็นก็คือจิตที่เห็น แต่ความชอบ หรือความไม่ชอบของแต่ละคนจะกล่าวว่าเป็นจิตไม่ได้ เพราะว่าเห็นสิ่งเดียวกัน แต่เมื่อเห็นแล้ว คนหนึ่งเกิดชอบ อีกคนหนึ่งเกิดไม่ชอบ
นี่ก็แสดงให้เห็นว่ามีสภาพธรรมที่ไม่ใช่จิต แต่เป็นเจตสิกที่เกิดกับจิตในขณะนั้น เมื่อเห็นแล้วบางคนก็โกรธ บางคนก็สงสาร เพราะฉะนั้น ลักษณะที่สงสาร กับลักษณะที่โกรธไม่ใช่สิ่งเดียวกัน แต่จิตที่เห็นก็คือสภาพที่เห็นสิ่งที่ปรากฏทางตา แต่เมื่อเห็นแล้ว ความรู้สึกก็ต่างกัน โกรธไม่ใช่เมตตา เพราะฉะนั้น เมตตาจะเป็นจิตไม่ได้ โกรธก็จะเป็นจิตไม่ได้ เพราะว่าจิตกำลังเห็น แต่ว่าความรู้สึกต่างกันได้ และก็เจตสิกอื่นที่เกิดร่วมด้วยก็ต่างกันได้ นี่ก็แสดงให้เห็นว่าเฉพาะจิตเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้อารมณ์ เพราะว่าจิตจะไม่รู้อารมณ์ไม่ได้ ถ้าจิตไม่รู้อารมณ์ เจตสิกจะชอบ หรือไม่ชอบในสิ่งนั้นไม่ได้ แต่เนื่องจากจิตเกิดขึ้นรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด ก็เป็นปัจจัยให้เจตสิกที่เกิดในขณะนั้นต่างกันไปตามการสะสม
เพราะฉะนั้น เวลาที่เห็นก็ดี ได้ยินก็ดี แม้คิดนึกก็ดี ต่างกันไปตามสภาพของจิต คิดด้วยความสนุกสนาน ผูกพัน สดชื่น กับคิดด้วยความขุ่นมัว เศร้าหมอง เป็นทุกข์ ตัวจิตเป็นสภาพที่เป็นใหญ่ในการรู้แจ้งอารมณ์ในสิ่งที่กำลังปรากฏ แล้วแต่จะเป็นเรื่องก็ได้ จะเป็นสิ่งที่ปรากฏทางตา ทางหูก็ได้ แต่เจตสิกที่เกิดร่วมด้วยก็ต่างกันไปตามเจตสิกประเภทนั้นๆ ไม่ทราบว่าคุณพิชัยพอจะเห็นอย่างนี้ หรือเปล่า ว่าเจตสิกไม่ใช่จิต เพราะฉะนั้น เจตสิกต่างกันเป็น ๕๒ ประเภท ไม่ปะปนกันเลย โลภเจตสิก ๑ โทสเจตสิก ๑ และก็ยังมีเจตสิกอื่นๆ ซึ่งเป็นแต่ละ๑ และสำหรับจิต ถ้าจะกล่าวว่ามีลักษณะเดียว คือเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้ง ยังไม่แจกประเภทไปตามเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย และในความละเอียดต่างๆ ก็แสดงให้เห็นว่านามธรรมซึ่งเป็นสภาพรู้ กล่าวว่ามี ๕๓ ก็ได้ คือเป็นเจตสิก ๕๒ และ เป็นจิต ๑ ก็ได้ คือการแสดงนัยของธรรมได้หลากหลายๆ นัย แต่ถ้าเรามีพื้นฐานที่มั่นคง ไม่ว่าจะแสดงโดยนัยใด เราสามารถที่จะเข้าถึงความจริง และความเข้าใจได้ว่า ที่กล่าวอย่างนี้แสดงนัยอะไร แสดงโดยนัยของความเป็นธาตุรู้ หรือสภาพรู้ ซึ่งจิตเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้เท่านั้น ไม่ได้แสดงนัยที่จิตต่างกันเป็นประเภทมากมายเท่าไหร่
ที่มา ...