ความไม่เที่ยงของธาตุทั้ง ๔


    มีข้อความในพระสูตรอีกที่ก็แสดงให้เห็นความไม่เที่ยงของธาตุทั้ง ๔ เป็นธาตุมนสิการซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องรู้

    มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ มหาหัตถิปโทปมสูตร ข้อ ๓๔๒ มีข้อความว่า

    สมัยนั้นพระผู้มีพระภาคประทับ ณ พระวิหารเชตวัน ท่านพระสารีบุตรได้ กล่าวกะภิกษุทั้งหลายว่า

    ดูกร ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย สมัยที่ปฐวีธาตุที่เป็นไปภายนอกกำเริบ ย่อมจะมีได้ แล ในสมัยนั้นปฐวีธาตุอันเป็นภายนอกจะเป็นของอันตรธานไป

    ดูกร ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ก็ชื่อว่า ความที่ปฐวีธาตุอันเป็นไปภายนอกนั้น ซึ่งใหญ่ถึงเพียงนั้น เป็นของไม่เที่ยงจักปรากฏได้ ความเป็นของสิ้นไปเป็นธรรมดาจักปรากฏได้ ความเป็นของเสื่อมไปเป็นธรรมดาจักปรากฏได้ ความเป็นของแปรปรวนไปเป็นธรรมดาจักปรากฏได้ ก็ไฉนความที่แห่งกายนี้อันตัณหาเข้าไปถือเอาแล้วว่าเรา ว่าของเรา ว่าเรามีอยู่ อันตั้งอยู่ตลอดกาลพอประมาณนี้ เป็นของไม่เที่ยง เป็นของมีความสิ้นไปเป็นธรรมดา เป็นของมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา เป็นของมีความแปรปรวนไปเป็นธรรมดาจักไม่ปรากฏเล่า เมื่อเป็นเช่นนี้ความยึดถือด้วยสามารถ ตัณหา มานะ และทิฏฐิในปฐวีธาตุนั้นจะไม่มีแก่ผู้นั้นเลย

    ดูกร ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย หากว่าชนเหล่าอื่นจะด่า จะตัดพ้อ จะกระทบกระเทียบ จะเบียดเบียนภิกษุนั้นไซร้ ภิกษุนั้นย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า ทุกขเวทนาอันเกิดแต่โสตสัมผัสสะนี้เกิดขึ้นแล้วแก่เรา ก็แต่ว่าทุกขเวทนานี้แลอาศัยเหตุจึงมีได้ ไม่อาศัยเหตุจะมีไม่ได้ ทุกขเวทนานี้อาศัยอะไรจึงมีได้

    ทุกขเวทนานี้อาศัยผัสสะจึงมีได้ ภิกษุย่อมเห็นว่า ผัสสะแม้นั้นแลเป็นของไม่เที่ยง ย่อมเห็นว่า เวทนานั้นเป็นของไม่เที่ยง ย่อมเห็นว่า สัญญานั้นเป็นของไม่เที่ยง ย่อมเห็นว่าสังขารทั้งหลายนั้นเป็นของไม่เที่ยง ย่อมเห็นว่า วิญญาณนั้นเป็นของไม่เที่ยง จิตอันมีธาตุเป็นอารมณ์นั่นเทียวของภิกษุนั้นย่อมแล่นไป ย่อมเลื่อมใส ย่อมตั้งอยู่ด้วยดี ย่อมหลุดพ้น

    ต่อจากนั้น ภิกษุนั้นก็จะระลึกถึง กกจูปมสูตร คือ พระโอวาทเปรียบด้วยเลื่อย ที่ไม่ว่าโจรจะมาเลื่อยอวัยวะน้อยใหญ่ก็ไม่ควรพยาบาท หรือโกรธเคืองในโจรนั้น เมื่อระลึกถึงพระโอวาทอันเปรียบด้วยเลื่อย ระลึกถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ อุเบกขาอันอาศัยกุศลธรรมตั้งอยู่ด้วยดีไซร้ ภิกษุนั้นย่อมเป็นผู้ปลื้มใจเพราะเหตุนั้น

    ดูกร ท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ด้วยเหตุมีประมาณเท่านี้แล คำสอนของพระผู้มีพระภาคเป็นอันภิกษุทำให้มากแล้ว

    ไม่ได้ห้ามให้คิดใช่ไหม ไม่ได้ห้ามเลย เพราะว่าแม้แต่ขณะที่มีใครด่า เปรียบกระทบกระเทียบต่างๆ ก็รู้ว่าขณะนั้นเกิดจากอะไร ทุกขเวทนานั้นเกิดจากโสตสัมผัสสะ โสตสัมผัสสะถ้าไม่มีธาตุต่างๆ ดิน น้ำ ไฟ ลม มีได้ไหม ก็ไม่ได้ เมื่อมนสิการอย่างนั้น และจิตก็ระลึกถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์แล้ว อุเบกขาอันอาศัยกุศลธรรมตั้งอยู่ด้วยดีไซร้ ความหมายของพยัญชนะนี้คือ วิปัสสนาเกิดขึ้น การที่ไม่ยึดถือนาม และรูปด้วยกุศลธรรม ด้วยสติที่ระลึกลักษณะของนาม และรูปตามความเป็นจริงในขณะนั้น ก็เป็นวิปัสสนาปัญญา

    ระลึกได้ตลอดเวลา ในลักษณะของนาม และรูปทั้งปวง ไม่ว่าจิตจะระลึกถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ขณะนั้นเป็นนามหรือเป็นรูป ระลึกแล้วก็ดับไป ก็เป็นแต่เพียงสภาพนามธรรมชนิดหนึ่งเท่านั้น

    ส่วนสมัยที่อาโปธาตุซึ่งเป็นของภายนอกกำเริบก็ย่อมจะมีได้ คือ ย่อมพัดบ้าน พัดนิคม พัดเมือง พัดประเทศแห่งชนบทไป บางคราวก็ลึกถึง ๑๐๐ โยชน์บ้าง ๒๐๐ โยชน์บ้าง บางคราวก็เพียงชั่ว ๗ ลำตาลบ้าง ๕ ลำตาลบ้าง ชั่วลำตาล ๑ บ้าง บางคราวก็ชั่ว ๗ บุรุษบ้าง ๖ บุรุษบ้าง ๕ บุรุษบ้าง บางคราวก็ขังอยู่เพียงกึ่งชั่วบุรุษบ้าง บางครั้งก็มีประมาณเพียงเข่าบ้าง ข้อเท้าบ้าง

    นี่เป็นเรื่องความไม่เที่ยงของธาตุน้ำ แม้ภายนอกก็ย่อมปรากฏ บางครั้งก็มากมายจนกระทั่งพัดพาบ้าน นิคม ชนบทไป บางครั้งก็เหลือน้อยนิดเดียว เพียงแต่จะทำให้ข้อมือเปียกก็กระทำไม่ได้ เพราะฉะนั้น ธาตุน้ำในกายซึ่งน้อยกว่านั้นมาก ก็ย่อมเป็นสภาพที่ไม่เที่ยงเช่นเดียวกัน

    สำหรับธาตุไฟภายนอกที่กำเริบก็ย่อมจะเห็นได้ว่า บางคราวก็ไหม้บ้าน เมือง นิคม ชนบท ประเทศ แต่พอไปถึงที่ๆ เป็นหญ้าสด หนทาง ภูเขา น้ำ หรือว่าภูมิภาคที่น่ารื่นรมย์ที่ไม่มีเชื้อ ไฟนั้นก็ย่อมดับ ก็เป็นอนิจจังไม่เที่ยง ถ้าแม้ว่าจะมากมายใหญ่โตสักเท่าไรก็มีวันสิ้นสุดหมดลงได้ เพราะฉะนั้น ในบางคราวไม่มีธาตุไฟมากๆ อย่างที่จะไปไหม้บ้านไหม้เมือง ก็ต้องแสวงหาไฟด้วยขนไก่บ้าง ด้วยการขุดหนังบ้าง นี่ก็เป็นความไม่เที่ยงของธาตุไฟ แล้วธาตุไฟภายนอกก็ยังปรากฏความไม่เที่ยงถึงอย่างนั้น เพราะฉะนั้น ธาตุไฟในกายซึ่งเล็กน้อยกว่า ก็ย่อมจะเห็นได้ชัดว่า มีสภาพความไม่เที่ยง

    สำหรับธาตุลมภายนอกก็เหมือนกัน มีสมัยที่ลมพัดจัด พัดบ้าน พัดเมือง พัดชนบทไป แล้วบางสมัยที่ลมไม่มีเลย ต้องแสวงหาด้วยพัดใบตาลบ้าง พัดสำหรับพัดไฟบ้าง นี่เป็นความไม่เที่ยงของธาตุลมภายนอก เพราะฉะนั้น ธาตุลมภายในก็เช่นเดียวกัน

    เป็นพระธรรมเทศนาที่ทรงแสดงอนุเคราะห์เกื้อกูลให้ผู้ที่กำลังเจริญสติระลึกรู้ลักษณะของธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม ได้เกิดการละคลายการยึดถือ ให้ชินขึ้นทุกครั้งที่สติระลึกรู้ลักษณะของนามรูป จะได้มนสิการถูกต้องตามความเป็นจริง


    หมายเลข 5027
    2 ส.ค. 2567