พิจารณาความสงบของจิตที่ตั้งมั่นได้บ้างไหม
ท่านผู้ฟังคงไม่ลืม ว่า ธรรมสำหรับการปฏิบัติไม่ว่าจะเป็นเรื่องทาน เรื่องศีล เรื่องความสงบของจิต หรือว่า สติปัฏฐาน เพราะฉะนั้น แต่ละครั้ง เมื่อเป็นโอกาสของการที่กุศลประเภทใดจะเกิด ก็ควรที่จะได้พิจารณาว่า ขณะนั้นกุศลประเภทนั้นเกิดหรือเปล่า โดยมากดิฉันมักจะเรียนถามทุกครั้ง หลังจากที่กราบพระ สวดมนต์เสร็จแล้ว เพื่อที่จะให้ท่านผู้ฟังได้พิจารณาว่า สงบไหม ในขณะนั้น คะ แม้ว่าเพิ่งจะผ่านไปแล้ว เมื่อสักครู่นี้ ก็จะได้ระลึกว่า ขณะนั้น เมื่อครู่นี้นั้น มีลักษณะสภาพความสงบของจิต เกิดขึ้นปรากฏบ้างไหม เพื่อที่ว่าจะได้เจริญกุศลขั้นต่อไปด้วย คือขั้นอบรมความสงบของจิต แล้วท่านผู้ฟังก็จะสังเกตุเห็นได้ว่า ถ้าลักษณะของความสงบ ยังไม่มั่นคงที่จะปรากฏ ลักษณะของความตั้งมั่น ซึ่งเป็นสมาธิแล้วละยากที่จะรู้จริงๆ ว่าขณะนั้นสงบได้ไหม ชั่วขณะที่กุศลแต่ละประเภทเกิดขึ้น ขณะนั้นเป็นความสงบแล้ว แต่ว่า เพราะน้อยมากทีเดียว เมื่อสมาธิไม่มีกำลังที่จะปรากฏ ความตั้งมั่นในความสงบนั้นจริงๆ ย่อมไม่เห็ฯลักษณะของความสงบ แต่ว่าเจริญได้ โดยการสังเกตุสำเหนียกรู้ ในขณะที่กำลังกราบพระ หรือสวดมนต์ จะได้ทราบว่าขณะนั้น พุทธานุสติ มีการระลึกถึงพระคุณ มีความปีติ มีความศรัทธา มีความสงบหรือไม่ ในขณะนั้น การที่ศึกษา และสังเกตุเพิ่มขึ้น ทีละเล็กทีละน้อย จะเป็นปัจจัยที่จะทำให้ มีความสงบเกิดเพิ่มขึ้น บ่อยๆ เนืองๆ ได้ ในขณะที่สวดมนต์ไหว้พระ หรือว่าระลึกถึงพระพุทธคุณ แล้วถ้าจะมีความตั้งมั่นในความสงบนั้น จนกระทั่งสามารถสังเกตุรู้ ในอาการของความตั้งมั่นซึ่งเป็นสมาธิพร้อมความสงบ ก็จะเห็นได้ว่า น้อยมากคะ ชั่วครู่เดียว ไม่ ใช่ถึงกับที่จะตั้งมั่นเป็นอุปจารสมาธิ ดังเช่นพระอริยสาวกทั้งหลาย แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า พระอริยสาวกทั้งหลาย จะระลึกถึงพระพุทธคุณ แล้วก็ถึงอุปจารสมาธิทุกท่าน แล้วแต่เหตุ แล้วแต่ปัจจัย ซึงสภาพธรรม ย่อมเกิดขึ้นแต่ละขณะ ตามความเป็นจริงของแต่ละบุคคล ซึ่งต่างกัน แล้วสำหรับพระอริยสาวก ที่จะถึง อุปจารสมาธิเพราะการระลึกถึงพระพุทธคุณนั้นก็มีน้อย ไม่ใช่ว่ามีมาก เพราะฉะนั้น ก็ต้องเข้าใจ ความตั้งมั่นคงของจิต ในความสงบว่า จะต้องมีความสงบเพิ่มขึ้นจริงๆ ปรากฏลักษณะของความตั้งมั่นคงซึ่งเป็นสมาธิในความสงบนั้นยิ่งขึ้นพร้อมสัมปชัญญะ ที่บริบูรณ์แล้วก็อย่าเพิ่งคิดว่าขณะนั้นเป็นอุปจารสมาธิแล้ว ยังอีกไกล แล้วก็สำหรับผู้ที่จะเป็นอุปจารสมาธิได้ โดยระลึกถึงพุทธานุสติ คือพระพุทธคุณนั้น ก็ต้องเป็นพระอริยสาวกประเภทเดียว ที่ท่านมีความแจ่มแจ้งในพระคุณของพระผู้มีพระภาค เพราะท่านได้บรรลุธรรมที่พระผู้มีพระภาค ได้ทรงแสดง และได้ทรงบรรลุ เพราะฉะนั้น ความนอบน้อม ความปีติ ความปราโมทย์ ความตั้งมั่นคง ความผ่องใสของจิตที่สงบ ย่อมมีมากกว่าผู้ที่ยังไม่ได้เป็นพระอริยเจ้า แต่ถ้าโดยนัยของวิปัสสนา ซึ่งอารมณ์ทุกอารมณ์เป็นสติปัฏฐาน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน พุทธานุสติในขณะนั้น ย่อมเป็นอารมณ์ที่จะทำให้บรรลุถึงขั้น ความเป็นพระอรหันต์ นี่เป็นความต่างกันของผลของการเจริญพุทธานุสติ โดยนัยของสมถภาวนา และโดยนัยของวิปัสสนาภาวนา แต่จุดประสงค์ของการที่จะกล่าวถึงสมถภาวนา ในรายการนี้ ก็เพื่อที่จะเกื้อกูลต่อการเจริญสติปัฏฐานเท่านั้น ไม่มุ่งหมายที่จะให้ท่านเจริญ สมถภาวนาถึงอุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ หรือฌานจิต เพราะเหตุว่า ยากที่จะเป็นไปได้ ซึ่งทุกท่านก็จะรู้สภาพของจิต ของท่านได้ตามความเป็นจริงว่า ท่านสามารถที่จะ ประกอบด้วยปัญญา ที่จะทำให้บรรลุถึงความสงบขั้น ต่างๆ เหล่านี้ ได้หรือไม่