อารมณ์หมายถึงสิ่งที่จิตกำลังรู้


    เพราะฉะนั้นอารมณ์นี่ต้องเข้าใจใหม่ เวลาที่ศึกษาธรรม หมายความถึง สิ่งที่จิตกำลังรู้ เช่นกำลังเห็นเดี๋ยวนี้ สิ่งที่ปรากฏที่ถูกเห็นนั้นเป็นอารมณ์ ของจิตเห็น เสียงที่กำลังปรากฏเพราะจิตได้ยินเสียงนั้น เสียงนั้นจึงปรากฏ เพราะฉะนั้นเฉพาะเสียงนั้นเท่านั้นที่จิตรู้ เป็นอารมณ์ของจิต ถ้าจะพูดภาษาบาลีก็ “อารัมมณะ” หรือ “อาลมฺพน” เป็นอารมณ์คือ เป็นสิ่งที่จิตรู้ ไม่ใช่สิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น หรือว่า ไม่ใช่สิ่งที่จิตไม่รู้ แม้ว่าเป็นรูป ก็มีรูปเยอะแยะ เพราะว่าจิตไม่ได้ไปเห็นหมดทุกรูป ใช่ไหม แต่ว่ารูปใดก็ตามที่จิตกำลังรู้ รูปนั้นเป็นอารมณ์ของจิต หรือเป็น “อารัมมณะ” ของจิต

    รูปทั้งหมดก็จะแบ่งออกเป็น “อิฏฐารมณ์” ที่น่าพอใจ ถ้าไม่น่าพอใจก็เป็น “อนิฏฐารมณ์” รูปที่ไม่น่าพอใจ ถ้ารูปสองรูปนี้ไม่มีความต่างกัน เราก็จะมีแต่ความรู้สึก หรือความเป็นอย่างหนึ่งอย่างใด คือชอบตลอด ไม่มีไม่ชอบเลย หรือว่าไม่ชอบตลอด ไม่มีชอบเลย เพราะเหตุว่าแม้รูปเองก็มีความวิจิตรต่างๆ เกิดจากสมุฏฐานต่างๆ สิ่งที่ปรากฏทางตารูปหนึ่ง รูปที่ปรากฏทางกาย อย่างแหวนเพชร หรือเพชรนิลจินดาต่างๆ ชอบดูใช่ไหม สีสวยใช่ไหม แล้วก็มีเพชรนิลจินดาหลากหลายชนิด หลายสีด้วย แต่เวลากระทบสัมผัสเหมือนกันไหม คือแข็ง เพราะฉะนั้นต้องแยก สิ่งที่น่าพอใจทางตา กับสิ่งที่น่าพอใจทางกาย คนละขณะ คนละโลก ไม่ใช่พร้อมกันในขณะเดียวกัน เพราะฉะนั้นรูปทั้งหมดทุกรูป ก็สามารถที่จะเป็นอย่างหนึ่งอย่างใด คือเป็นรูปที่น่าพอใจอย่างหนึ่ง และรูปที่ไม่น่าพอใจอย่างหนึ่ง แต่รูปทั้งหมดเป็นรูปขันธ์ ไม่ว่าจะน่าพอใจ หรือไม่น่าพอใจ


    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 8


    หมายเลข 5092
    5 ก.ย. 2567