ปุถุชนผู้เริ่มเจริญสติปัฏฐาน
สำหรับความเข้าใจในเรื่องการเจริญสติปัฏฐาน ควรที่จะได้ทราบว่า เพราะผู้ที่เป็นปุถุชน ที่เริ่มจะเจริญสติปัฏฐานนั้น เป็นผู้ที่มีกิเลสมาก เพราะฉะนั้นก็มีปัจจัยที่ทำให้หลงลืมสติมากกว่ามีปัจจัยที่ทำให้สติเกิดขึ้นเนืองๆ บ่อยๆ มีใครที่บังคับให้สติเกิดขึ้นติดต่อนานๆ บ้างไหม ถ้าเป็นการกระทำอย่างนั้น จะทราบถึงเหตุปัจจัยของตนเองว่า เป็นผู้ที่มีกิเลสมาก แล้วก็มีเหตุปัจจัยให้หลงลืมสติในวันหนึ่งๆ มาก และสตินั้นก็เป็นอนัตตา ไม่ใช่ว่ามีผู้หนึ่งผู้ใดสามารถที่จะบังคับให้เกิดติดต่อกันได้เป็นเวลาเท่านั้นเท่านี้นาที หรือว่าเท่านั้นเท่านี้ชั่วโมง เพราะฉะนั้น ถ้าเป็นการเจริญสติปัฏฐานที่รู้ลักษณะของสติว่าเป็นสภาพที่ระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏแล้ว ก็จะเห็นความเป็นอนัตตา แล้วก็รู้ในลักษณะของสติ ขณะนี้ ผู้ใดบ้างที่ยังไม่ทราบลักษณะของสติ แต่ถ้าฟังมาพอสมควร ก็พอจะทราบได้ว่า สัมมาสติ เป็นลักษณะที่ระลึกทันทีที่สิ่งที่กำลังปรากฏ ในขณะนี้มีตา มีหู มีจมูก มีลิ้น มีกาย มีใจ ขณะที่หลงลืมสติ คือขณะที่ไม่ได้ใส่ใจรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ ผิดกันเพียงเล็กน้อยเท่านั้นเอง
ขณะที่หลงลืมสติ คือ ขณะที่ไม่ได้ใส่ใจพิจารณาลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ แต่ถ้าเป็นขณะที่มีสติไม่หลงลืมสติแล้ว ก็ระลึกลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ รู้ชัดหรือว่าเริ่มรู้ในลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ ทางหนึ่งทางใด ได้ทุกขณะ ทางตาก็ได้ ทางหูก็ได้ จมูกก็ได้ ลิ้นก็ได้ กายก็ได้ ใจก็ได้ ขอให้ทราบลักษณะของสติให้ชัดเจน เพื่อว่าท่านจะได้ไม่มีความต้องการ เพราะเหตุว่าการเจริญสติปัฏฐาน อาศัยความเข้าใจไม่ต้องทำอะไรจริงๆ เพราะอะไร ขณะนี้เห็น ต้องทำไหม การได้ยินก็เหมือนกัน มีการได้ยินเกิดขึ้นปรากฏแล้วเพราะมีเหตุปัจจัยให้เห็น มีเหตุปัจจัยให้ได้ยิน ในขณะนี้ถ้าจะคิดจะนึกก็มีเหตุปัจจัยให้คิดให้นึก ถ้าจะเป็นสุขเป็นทุกข์ก็มีเหตุปัจจัยให้เกิดสุขในขณะนี้ ให้เกิดทุกข์ในขณะนี้ ถ้าจะชอบไม่ชอบก็มีเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดชอบไม่ชอบในขณะนี้ มีเหตุปัจจัยที่ทำให้ทุกขณะของจิตเกิดขึ้นเป็นไป มีเหตุปัจจัยที่ทำให้สภาพธรรมแต่ละขณะที่กำลังปรากฏในขณะนี้เกิดปรากฏการณ์แล้ว เพราะฉะนั้น พรุ่งนี้เก็เหมือนกัน ต้องทำไหม ที่จะให้เห็น ให้ได้ยิน ไม่ต้องเลย มีเหตุปัจจัย เรียบร้อยเสร็จสรรพมาในอดีต ที่จะให้การเห็นพรุ่งนี้ก็มีเหมือนในขณะนี้ การได้ยินพรุ่งนี้ก็มี การคิดนึกก็มี ความสุขความทุกข์ก็มี เพราะฉะนั้นผู้ที่เจริญสติปัฏฐานนั้นเจริญปัญญา ด้วยการที่สติระลึกลักษณะของสิ่งที่มีเหตุปัจจัยทำให้เกิดขึ้นเป็นปกติในชีวิตประจำวัน จึงจะชื่อว่า เริ่มรู้สภาพธรรมทั้งหลายตามความเป็นจริง
นี่เป็นการที่จะทำให้ท่านผู้ฟังไม่เข้าใจคลาดเคลื่อนในเรื่องของการเจริญสติปัฏฐาน แล้วก็จะทำให้เข้าใจมหาสติปัฏฐานชัดเจนถูกต้องขึ้นว่า ด้วยเหตุใดในกายานุปัสสนาสติปัฏฐานก็ดี ในเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐานก็ดี จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานก็ดี ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐานก็ดี จึงรวมทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นของจริง ไม่ว่าจะเป็นภายในหรือภายนอก เพื่อให้เป็นเครื่องระลึกของจิต เพราะว่าปุถุชนนั้นหลงลืมสติ ถ้าคิดว่าขณะนั้นเจริญสติปัฏฐานไม่ได้ ขณะนี้เจริญสติปัฏฐานไม่ได้ ก็ยิ่งเป็นปัจจัยให้หลงลืมสติมากขึ้น แต่ในมหาสติปัฏฐานนั้นไม่เว้นอะไรเลย ทุกอย่างที่เป็นของจริง ไม่ว่าจะเป็นที่กายของตนเองหรือว่าผู้อื่น เวทนาของตนเองหรือของผู้อื่น จิตของตนเองหรือผู้อื่น ธรรมทั้งหลายทั้งภายใน และภายนอก เป็นเครื่องให้สติระลึกแล้วก็รู้ชัดว่าไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคลได้ทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นในธาตุมนสิการบรรพ ที่ได้กล่าวถึงแล้วในคราวก่อน ท่านผู้ฟังก็คงจะเห็นความสำคัญได้ว่า เพราะเหตุใด พระผู้มีพระภาคจึงได้ทรงแสดงธาตุมนสิการบรรพในกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เพราะเหตุว่าที่กายนี้ ถ้าระลึกรู้ลักษณะของรูปที่เกิดปรากฏที่กายขณะใด จะไม่พ้นจากธาตุทั้ง ๔ ดิน น้ำ ไฟ ลม คือลักษณะที่อ่อนบ้าง แข็งบ้าง เย็นบ้าง ร้อนบ้าง ไหวบ้าง เคร่งตึงบ้างเหล่านี้ ปรากฏอยู่ตลอดเวลา เป็นเครื่องให้ระลึกถึงความจริง ใครจะหลงเพลิดเพลินยึดถือร่างกายนี้สักเท่าไหร่ก็ตาม แต่ถ้าทราบว่าที่หลงยึดถือว่าเป็นตัวตนเป็นร่างกายของเรานั้น ก็มีลักษณะเพียงธาตุทั้ง ๔ เท่านั้นเอง ตั้งแต่เกิดจนกระทั่งเดี๋ยวนี้ ก็ยังคงเป็นอย่างนั้น ก็คงมีแต่ธาตุทั้ง ๔ ที่เป็นภายใน ที่ยึดถือว่าเป็นร่างกายของเรา แล้วก็ไม่ควรที่จะละเลยการพิจารณาธาตุทั้ง ๔ ที่เป็นภายนอกด้วย เพื่อประโยชน์แก่การที่จะให้สติระลึกรู้ แล้วก็ละการเห็นผิด การเข้าใจผิด การยึดถือว่าเป็นตัวตน