เจตสิกที่จำคือสัญญาเจตสิก
คือการศึกษาธรรมไม่จำเป็นที่เราจะต้องรีบไปอย่างเร็ว แต่เป็นความเข้าใจของเราที่มั่นคงเพิ่มขึ้นในความเป็นสภาพธรรม ซึ่งทำให้ความเข้าใจของเราเริ่มเข้าใจถูกต้อง ว่าขณะนี้จิตเกิดดับนับไม่ถ้วน รวดเร็วมาก แต่เพราะไม่ปรากฏการเกิดดับ ก็มีสภาพธรรมซึ่งเป็นเจตสิกชนิดหนึ่ง ไม่ได้ใช้คำว่าจิตเพราะเหตุว่า จิตไม่ได้จำ จิตไม่ได้คิด จิตเป็นธาตุที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งลักษณะของอารมณ์ที่ปรากฏ เช่นในขณะนี้จะเห็นอะไร ก็เพราะจิตขณะนั้นรู้แจ้งในลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ
ถ้ามีแหวนเพชรสองวง จิตเป็นลักษณะที่รู้แจ้งในลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ จะเป็นสีเขียว สีแดง จะเป็นเพชรแท้ เพชรเทียม ยังไงๆ ก็ตาม เพราะจิตรู้แจ้ง สัญญาก็เกิดพร้อมจิต เพราะว่านอกจากจิตแล้ว ขณะหนึ่งๆ ซึ่งมีธาตุรู้เกิดขึ้นเป็นสภาพที่เป็นใหญ่ในการรู้คือจิต เป็นมนินทรีย์แล้ว ก็ยังมีเจตสิก สภาพธรรมที่เป็นนามธรรมอื่นๆ ที่เกิดกับจิต เวลาที่จิตเกิดขึ้นหนึ่งขณะ จะมีเพียงจิตเกิดตามลำพังไม่ได้เลย ต้องมีเจตสิกเกิดร่วมด้วย จิตเป็นปัจจัยให้เจตสิกเกิด เจตสิกก็เป็นปัจจัยให้จิตเกิด ต่างอาศัยซึ่งกัน และกันเกิดขึ้น เมื่อสภาพธรรมเป็นอย่างนี้ จะไปถามได้ไหมว่าใครทำให้ใครเกิด ไม่ได้เลย แต่ความเป็นจริงก็คือลักษณะอย่างนี้แหละ อาศัยกัน และกันเกิดขึ้น เป็นธรรมเนียม เป็นนิยาม เป็นสภาวธรรม เป็นลักษณะจริงๆ ของสภาพธรรมนั้น
เพราะฉะนั้นขณะใดก็ตามที่จิตเกิด ต้องมีสภาพธรรมที่เกิดร่วมกันที่ทำหน้าที่จำ สภาพธรรมที่เกิดแล้วก็จำคือเจตสิกชนิดหนึ่ง ซึ่งทั้งหมดมีเจตสิก ๕๒ ประเภท แต่เจตสิกที่จำ พระผู้มีพระภาคทรงใช้คำว่า “สัญญาเจตสิก” นี่ก็ต้องเปลี่ยนจากความเข้าใจเดิมของเราที่คิดว่า สัญญาลงนามกันวันที่เท่านั้นเท่านี้ สัญญากันว่าจะทำอะไร แต่สัญญาเป็นสภาพธรรมที่จำทุกขณะที่เกิด จำได้ อย่างเช่น คุณเด่นพงศ์บอกว่าเห็นคน จะต้องมีความจำในรูปร่างสัณฐานของสิ่งซึ่งเคยเข้าใจว่าเป็นคน เพราะฉะนั้นทุกครั้งที่เห็นก็รู้ว่าเห็นคน เคยเห็นหุ่นไหม เคยเห็น แต่ก็รู้ว่าเป็นหุ่นใช่ไหม เพราะจิตเป็นสภาพที่รู้แจ้งในลักษณะของอารมณ์ เหมือนกันยังไงก็ตามแต่ จิตก็ยังสามารถที่จะรู้แจ้ง สัญญาก็สามารถที่จะจำอย่างละเอียด จนกระทั่งรู้ได้ว่าขณะนั้นไม่ใช่คน แต่เป็นหุ่น ทั้งๆ ที่บางคนอาจจะต้องไปมองแล้วมองอีก หรืออาจจะต้องกระทบสัมผัสแล้วถึงจะรู้ว่าเป็นหุ่น
ที่มา ...