นามธรรม ๕๓ - จิต ๑ เจตสิก ๕๒
สำหรับการที่กล่าวถึงนามธรรม ๕๓ ก็เพราะเหตุว่า จิตเป็นสภาพที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งลักษณะของอารมณ์ ไม่ว่าจะเป็นจิตประเภทใดขณะไหนก็ตาม ใครจะมาทำหน้าที่นี้ไม่ได้เลย เจตสิกทั้งหมดจะทำหน้าที่ของจิตคือเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งลักษณะของอารมณ์ไม่ได้ฉันใด จิตก็ไม่สามารถที่จะไปทำกิจของเจตสิกแต่ละเจตสิกได้ เพราะฉะนั้นเวลาที่สภาพธรรมเกิดรวมกันที่เป็นนามธรรม ก็จะเห็นได้ว่าปรุงแต่งให้จิต และเจตสิกแต่ละขณะเกิดขึ้นเป็นไปต่างๆ เช่น จิตก็จะต่างกันไปถึง ๘๙ ประเภท
ถ้าเรามีความเข้าใจถูกต้อง ไม่ว่าจะกล่าวในนัยอะไร เราก็ไม่สงสัย อย่างผัสสเจตสิกเป็นสภาพเจตสิกที่กระทบอารมณ์ รูปกับรูปกระทบกันไม่มีอะไรเกิดขึ้นเลย แต่นามธรรมที่กระทบอารมณ์ใด จิตรู้แจ้งลักษณะอารมณ์ที่ผัสสเจตสิกกระทบ ขณะที่เสียงปรากฏ เราจะไม่รู้เลยว่าขณะนั้นจิตเป็นสภาพที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งลักษณะของเสียงซึ่งผัสสเจตสิกที่เกิดร่วมด้วยกระทบ จิตไม่มีหน้าที่จะไปกระทบเลย ไม่มีหน้าที่จำ ไม่มีหน้าที่รู้สึก เจตสิกแต่ละอย่างที่เกิดร่วมกันก็ทำหน้าที่นั้นๆ
เพราะ ฉะนั้นถ้ามีความเข้าใจที่ถูกต้องอย่างนี้ เราก็จะไม่สงสัยว่า จะกล่าวถึงจิต ๘๙ หรือจะกล่าวรวมว่านามธรรม ๕๓ เพราะเหตุว่าจิตก็เป็นสภาพนามธรรมชนิดหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่เจตสิกหนึ่งเจตสิกใดเลย และเจตสิกแต่ละชนิดก็ไม่ใช่เจตสิกอื่นๆ และก็ไม่ใช่จิตด้วย เพราะฉะนั้นก็รวมได้ว่าเป็นนามธรรม ๕๓
ที่มา ...