การนมัสการ สักการะ เคารพ นับถือ บูชาพระผู้มีพระภาค


    ข้อความใน ขุททกนิกาย จูฬนิทเทสข้อ ๖๒๗ มีความว่า คำว่า นมัสการอยู่ ความว่า นมัสการ สักการะ เคารพ นับถือ บูชาอยู่ ด้วยกายบ้าง ด้วยวาจาบ้าง ด้วยจิตบ้าง ด้วยการปฏิบัติเป็นไปตามประโยชน์บ้าง ด้วยการปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมบ้าง ย่อมอยู่ คือ ยับยั้งอยู่ตลอดคืน และวัน เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า นมัสการอยู่ตลอดคืน และวัน ถ้าใครจะนมัสการพระผู้มีพระภาค อย่าลืมว่า ความว่า นมัสการ สักการะ เคารพ นับถือ บูชาอยู่ ด้วยกายบ้าง ด้วยวาจาบ้าง ด้วยจิตบ้าง ด้วยการปฏิบัติเป็นไปตามประโยชน์บ้าง ด้วยการปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมบ้าง ย่อมอยู่ คือ ยับยั้งอยู่ตลอดคืน และวัน นี่เป็นชีวิตจริงๆ ชีวิตวันนี้ คืนนี้ วันนี้ ที่เป็นตลอดคืน และวัน คือ นมัสการ สักการะ เคารพ นับถือ บูชาอยู่ ด้วยกายบ้าง กายวันนี้คะ นมัสการ สักการะ บูชา เคารพ นับถือ บ่อยไหมคะ พอไหมเพียงชั่วที่จะกราบ อัญชรีย์ หรือว่า นมัสการ ด้วยการไหว้ เท่านั้น แต่ว่ากายทั้งหมด ที่จะละเว้นทุจริต เว้นจากกายทุจริต ขณะใดขณะนั้นย่อมชื่อว่า นมัสการ สักการะ เคารพ บูชาพระผู้มีพระภาค เพราะฉะนั้น ผู้ทีรระลึกถึงพระผู้มีพระภาค บ่อยๆ ย่อมเสมือนกับพระผู้มีพระภาคประทับอยู่เฉพาะหน้า ไม่สามารถที่จะล่วงกายทุจริตได้ เพราะเหตุว่า ระลึกถึง พระผู้มีพระภาค ที่ได้ทรงแสดงธรรม ให้เห็นว่าธรรมใดเป็นอกุศล ที่ควรเว้น ธรรมใดเป็นกุศลที่ควรเจริญ แล้วสำหรับวาจาก็เช่นเดียวกัน ในวันหนึ่งๆ ผู้ที่ยังไม่ได้ดับกิเลส เป็นสมุจเฉท ลองพิจารณาวาจาของตนคะ ว่าเป็นไปในทางที่จะทำให้คนอื่น เดือดร้อน บ้างไหม บางทีลืมคิดถึงคนฟัง หรืออาจจะคิดว่าเขาคงไม่เดือดร้อนใจ พูดอย่างนี้คงไม่เป็นไร แต่ว่าถ้าท่านเป็นคนฟัง นี่คะ ท่านจะไม่รู้สึกอย่างนั้นเลย เพราะเหตุว่าคำพูดบางคำ แม้ว่าจะไม่ใช่คำหยาบคาย ที่เป็นผรุสวาจา ไม่ใช่คำที่รุนแรง แต่แม้กระนั้นก็เป็นคำที่ทำให้คนฟัง อาจจะเกิดความน้อยใจ หรือเสียใจ แม้เพียงเล็กน้อย ขณะนั้นถ้าสติเกิด จะเห็นความเป็นวจีทุจริต แต่ถ้าสติไม่เกิดก็ไม่รู้สึก ว่าเป็นอกุศล เพราะฉะนั้น สติที่เกิดขึ้น จะทำให้พิจารณาสภาพธรรม ในขณะนั้น เห็นอกุศลเป็นอกุศล และเห็นกุศลเป็นกุศล เพราะฉะนั้น ผู้ที่ระลึกถึง พระพุทธคุณ จะอยู่เฉยๆ ไหมคะ หรือว่าจะเตือนตัวเองที่จะประพฤติปฏิบัติ ตามพระธรรม เป็นการนมัสการะ เคารพ นอบน้อม แม้ด้วยวาจาสุจริต ไม่ใช่วาจาทุจริต นอกจากนั้นที่จะประพฤติเป็นไปทางกาย ทางวาจา ก็ยังมีการ นมัสการ สักการะ เคารพ นับถือ บูชาอยู่ ด้วยจิตบ้าง ธรรมดาของการเห็นการได้ยินที่มีเป็นปกติในชีวิตประจำวัน ย่อมเป็นปัจจัยที่จะให้จิตน้อมไป สู่อารมณ์ที่ปรากฏทางตา ด้วยโลภะบ้าง ด้วยโทสะบ้าง เพราะฉะนั้น การที่จะ นมัสการ สักการะ นอบน้อมพระผู้มีพระภาค ด้วยจิต คือการระลึกถึงพระพุทธคุณ แทนที่จะระลึกถึงรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ต่างๆ จะรู้ได้ว่าขณะใดที่จิตระลึกนึกถึงพระพุทธคุณ ขณะนั้นเป็นกุศล เพราะฉะนั้น วันหนึ่งๆ ตลอดคืน และวัน ในชีวิตประจำวัน การระลึกถึงพระผู้มีพระภาค ด้วยความนอบน้อม สักการะ เป็นไปในลักษณะใด ด้วยการเว้นกายทุจริต วจีทุจริต แล้วยังมีจิตที่น้อมระลึกถึงพระคุณ หรือว่าปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม คือระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ตามลำดับขั้น ตั้งแต่กายสุจริต วจีสุจริต จนกระทั่งถึงความสงบ จนกระทั่งถึงปัญญาที่รู้ลักษณะของสภาพธรรมด้วยการเจริญสติปัฏฐาน เป็นการปกฺบัติธรรม สมควรแก่ธรรม นี่เป็นการระลึกถึงคุณของพระผู้มีพระภาค


    หมายเลข 5158
    3 ส.ค. 2567