มรณสติหรือสติระลึกสภาพธรรม - อย่างไรจึงจะไม่ประมาท


    ขอกล่าวถึงมรณสติเป็นตัวอย่าง ที่ว่า การระลึกถึงความตาย ถ้าระลึกโดยไม่แยบคายกุศลจิตไม่เกิด แม้ว่าเป็นสมถกรรมฐาน ท่านผู้ฟังอย่าลืมว่า ต้องมีปัญญาจึงจะเจริญได้ ทุกกรรมฐาน ถ้าไม่มีปัญญาแล้ว จิตไม่สงบ เช่นถ้าระลึกถึงความตายของคนที่รัก เป็นอย่างไรคะ โศกเศร้า เสียใจ เพราะขาดสติ และปัญญา เวลาที่ระลึกถีง คนที่ไม่เป็นที่รัก หรือว่าคนที่เกลียดชัง หรือคนที่เป็นศัตรู ความตายของบุคคลเหล่านั้น อาจจะก่อให้เกิดความยินดี ใช่ไหมคะ นั่นเป็นการระลึกถึงความตาย ที่ปราศจากสติ และปัญญา เพราะฉะนั้น ก็ไม่สามารถที่จะทำให้เกิดความสงบได้ หรือถ้าระลึกถึงคนซึ่งไม่เป็นที่รัก ไม่เป็นที่ชัง จิตก็ไม่สงบ เพราะเหตุว่าขณะนั้นไม่ใช่ปัญญาที่ระลึกถึงด้วยความแยบคาย อย่างวันหนึ่งๆ ได้ข่าวของคนที่เสียชีวิตไป ในหนังสือพิมพ์ด้วยอุบัติเหตุต่างๆ หรือว่าผู้ที่กระทำกิจเกียวข้องกับคนที่ตาย ที่สิ้นชีวิตไปแล้ว เช่นสัปเหร่อทั้งหลาย เหล่านี้ ไม่มีความรัก ความชังในบุคคลที่ตาย แต่ว่าไม่ใช่หมายความว่าขณะนั้น เป็นกุศลจิต เพราะฉะนั้น การระลึกถึงความตายโดยไม่แยบคายเหล่านั้น ไม่ทำให้จิตสงบ ระลึกอย่างไรจิตจะสงบ ต้องน้อมมาระลึกถึงความตายของตนเอง แล้วก็จะเห็นได้ว่าชีวิตนี้สั้นมาก แล้วก็สมบัติทั้งหลายที่มี ย่อมถึงความวิบัติพร้อมกับการขาดสูญของชีวิตนี้ ซึ่งไม่มีใครรู้ ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไร ซึ่งข้อความที่กล่าวถึงการระลึกถึงความตายที่จะให้เกิดความแยบคายนั้น เช่นระลึกถึงว่า ชีวิตทั้งหลายไม่มีนิมิต คือไม่มีเครื่องหมายให้รู้เลย ว่าจะเสียชีวิตลงไปเมื่อไร อาจจะตั้งแต่อยู่ในครรภ์ของมารดาก็ได้ หรือว่าเกิดมาแล้ว มีอายุจนถึง ๒๐ ปี ๓๐ ปี ๖๐ ปี ๑๐๐ ปีก็ได้ ไม่มีใครสามารถที่จะรู้นิมิตของชีวิตได้เลย ว่าจะมาก หรือจะน้อย หรือว่าจะยาวนานสักเท่าไร เช่นทุกท่านที่นั่งอยู่ในขณะนี้ มีนิมิตที่จะบอกได้ไหมคะว่า ชีวิตของใครจะสิ้นสุดลงเมื่อไร เพราะฉะนั้น ก็เป็นของที่ไม่แน่นอนเลย ถ้าคิดถึงความไม่แน่ จนกระทั่งสามารถที่จะระลึกถึงความตายให้สั้นเข้าๆ เช่นที่พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดง กับพระภิกษุทั้งหลายว่า การระลึกถึงความตายชั่ว วันหนึ่ง คืนหนี่ง ที่มีชีวิตอยู่ ก็ยังประมาท จนกระทั่งระลึกถึงในขณะที่มีชีวิตอยู่พอที่จะเคี้ยวอาหาร ๔-๕ คำแล้วกลิ่น นั่นก็ยังประมาท แต่ผู้ที่จะไม่ประมาท ก็คือผู้ที่ระลึกถึงความตาย ชั่วขณะที่ เคี้ยวข้าวคำหนึ่งแล้วกลืน หรือว่าหายใจเข้าแล้วออก หายใจออกแล้วเข้า นั่นเป็นผู้ที่ไม่ประมาท แต่ไม่ใช่หมายความว่าให้ระลึกถึงความตายอย่างนั้นเท่านั้น อย่าลืมว่า สมถกรรมฐาน ทั้งหมด ควรที่จะจบลงด้วยเห็นธรรมในธรรม เพราะฉะนั้น แม้แต่สมถกรรมฐานเช่น มรณสติ ก็ไม่ใช่ว่าให้ไประลึกถึงความตายแล้วสงบเท่านั้น แต่ต้องไม่ประมาทโดยสติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ เมื่อระลึกถึงความตายแล้ว อย่างเวลานี้ ถ้าท่านระลึกถึงความตาย กับสติระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ทันที อย่างไหนไม่ประมาท ระลึกถึงความตาย แต่สติไม่ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ที่เป็นนามธรรม ที่เป็นรูปธรรม ทางตาทางหูทางจมูกทางลิ้นทางกายทางใจ ถ้าไม่ระลึก มรณสตินั้นก็ไม่สามารถที่จะถึง เห็นธรรมในธรรมได้ แต่ถึงแม้ว่าพระผู้มีพระภาค จะให้ระลึกถึง ความตาย คือมรณสติเนืองๆ ก็เพื่อประโยชน์ อย่างเดียวคือ การที่จะให้เกิดสติ ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรม ที่จะดับกิเลส เป็นสมุจเฉท


    หมายเลข 5161
    3 ส.ค. 2567