สัลเลขสูตร - ทิฏฐิตามนอนอยู่ในอารมณ์ใด
ข้อความในสัลเลขสูตรมีว่า ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวันอาราม ของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ครั้งนั้น เวลาเย็น ท่านพระมหาจุนทะออกจากที่พักผ่อน แล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถวายบังคม นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ทิฏฐิเหล่านี้มีประการต่างๆ ประกอบด้วยการกล่าวปรารภอัตตาบ้าง ประกอบด้วยการกล่าวปรารภโลกบ้าง ย่อมเกิดขึ้นในโลก เมื่อภิกษุมนสิการธรรมเบื้องต้นเท่านั้นหรือ การละทิฏฐิเหล่านั้น การสละคืนทิฏฐิเหล่านั้น ย่อมจะมีได้ ด้วยอุบายอย่างนี้หรือ พระเจ้าข้า พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรจุนทะ ทิฏฐิเหล่านี้มีหลายประการประกอบด้วยการกล่าวปรารภอัตตาบ้าง ประกอบด้วยการกล่าวปรารภโลกบ้าง ย่อมเกิดขึ้นในโลก ก็ทิฏฐิเหล่านั้น ย่อมเกิดขึ้นในอารมณ์ใด ตามนอนอยู่ในอารมณ์ใด และขึ้นเที่ยวอยู่ทั่วในอารมณ์ใด เมื่อภิกษุเห็นอารมณ์นั้น ด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นมิใช่ของเรา เรามิใช่นั่น นั่นมิใช่ตัวตนของเรา ดังนี้ การละทิฏฐิเหล่านั้น การสละคืนทิฏฐิเหล่านั้น ย่อมมีได้ด้วยอุบายอย่างนี้ ข้อความที่พระผู้มีพระภาค ตรัสว่า ก็ทิฏฐิเหล่านั้นย่อมเกิดขึ้นในอารมณ์ใด ตามนอนอยู่ในอารมณ์ใด และขึ้นเที่ยวอยู่ทั่วในอารมณ์ใด ขณะนี้หรือเปล่าคะ ความเห็นผิด ที่มีอยู่ ในนาม และรูป ทางตาทางหูทางจมูกทางลิ้นทางกายทางใจ พระผู้มีพระภาค ตรัสว่า ก็ทิฏฐิเหล่านั้นย่อมเกิดขึ้นในอารมณ์ใด ถ้าเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติปัฏฐาน ระลึกได้ทันที ใช่ไหมคะ ว่าขณะนี้ทิฏฐิเกิดขึ้นในอารมณ์ใด ที่กำลังปรากฏทางตา กำลังเห็นถูกหรือเห็นผิด ทางหู กำลังเห็นถูกหรือกำลังเห็นผิด นอกจากนั้นยังมีทิฏฐิที่ ตามนอนอยู่ในอารมณ์ใด บางทีในขณะนั้น ไม่มีความเห็นผิดเกิดร่วมด้วยกับจิตซึ่งเป็นโลภมูลจิตในขณะนั้น แต่ว่าความเห็นผิดที่ยังไม่ได้ดับเป็นสมุจเฉท ตามนอนอยู่ในอารมณ์ใด ที่จะรู้ว่าขณะนี้ ทิฏฐิ ที่เป็นความเห็นผิด ตามนอนอยู่ในอารมณ์ใด ต้องเป็นผู้ที่เจริญสติ ระลึกรู้ ลักษณะของสภาพธรรม เพราะเหตุว่าในตอนต้นๆ คงจะไม่มีท่านผู้ใด สามารถที่จะระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมได้ตลอดทั่วทั้ง ๖ ทวาร ทั้ง ๖ อารมณ์ เพราะฉะนั้น บางท่านที่เริ่มเจริญสติปัฏฐาน อย่างที่ชาวเมืองกุรุ ถามกันว่า วันนี้มีสติปัฏฐาน ใดเป็นอารมณ์ เพราะฉะนั้น แต่ละคน จะทราบได้ว่า บางท่านอาจจะไม่ได้ระลึกรู้ลักษณะของรูปารมณ์ คือสิ่งที่กำลังปรากฏทางตา แต่กำลังเริ่มระลึกรู้ลักษณะของโผฏฐัพพะ คือ รูปธรรมที่กำลังปรากฏทางกาย เพราะฉะนั้น บุคคคลนั้นย่อมรู้ว่า ในขณะที่กำลังระลึก แล้วก็เพิ่มความรู้ขึ้น ทิฏฐิที่ตามนอนอยู่ในอารมณ์นั้น ย่อมน้อยกว่าทิฏฐิที่ตามนอน อยู่ในอารมณ์อื่น ท่านอาจจะระลึกรู้ลักษณะของรูปธรรมทางหู คือเสียง แต่ว่าทางตา ยังไม่ค่อยจะได้ระลึก หรือว่าบางท่านอาจจะยังไม่ระลึกเลย เพราะฉะนั้น ทิฏฐิ ที่ตามนอน อยู่ในอารมณ์คือเสียงที่ปรากฏทางหู ย่อมน้อยกว่าทิฏฐิที่ตามนอนอยู่ในรูปารมณ์ ที่ปรากฏทางตา หรือว่าเวทานา ความรู้สึก ถ้าสติยังไม่ระลึกรู้ลักษณะของความรู้สึกเลย เวลาที่มีความรู้สึกยินดีหรือยินร้าย ในขณะนั้นทิฏฐิย่อมตามนอน อยู่ในเวทนา คือความรู้สึกนั้นมากกว่าในอารมณ์ซึ่งสติเริ่มระลึกรู้บ้าง