ความกลัวหายไปเมื่อระลึกถึงพระพุทธคุณ


    ข้อความในสังยุตตนิกาย สคาถวรรค ธชัคคสูตรที่ ๓

    ครั้งนั้นพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกมหาเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ฯ

    ข้อ ๘๖๕ มีข้อความว่า ครั้งนั้นพระผู้มีพระภาคตรัสกับภิกษุทั้งหลายว่า

    ดูกรภิกษุทั้งหลาย ส่วนเราแล กล่าวอย่างนี้ว่า

    ดูกรภิกษุทั้งหลาย หากความกลัวก็ดี ความหวาดสะดุ้งก็ดี ความขนพองสยองเกล้าก็ดี พึงบังเกิดแก่พวกเธอผู้ไปในป่าก็ดี อยู่ที่โคนไม้ก็ดี อยู่ในเรือนที่ว่างเปล่าก็ดี ทีนั้นพวกเธอพึงตามระลึกถึงเรานี้แหละว่า แม้เพราะเหตุนี้ๆ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นเป็นพระอรหันต์ เป็นผู้ตรัสรู้เองโดยชอบ เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชา และจรณะ เสด็จไปดีแล้ว เป็นผู้รู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกบุรุษที่ควรฝึกไม่มีผู้อื่นจะยิ่งไปกว่า เป็นศาสดาของเทวดา และมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้ตื่นแล้ว เป็นผู้จำแนกธรรม ดังนี้

    ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะว่า เมื่อพวกเธอตามระลึกถึงเราอยู่ ความกลัวก็ดี ความหวาดสะดุ้งก็ดี ความขนพองสยองเกล้าก็ดี ที่จักมีขึ้น ก็จักหายไป

    ต้องเข้าใจด้วยถึงการระลึกถึงพระพุทธคุณ จนสามารถที่จะสงบทันทีที่ระลึก เวลาที่มีอันตรายเกิดขึ้น มีความกลัว มีความตกใจ มีความขนพองสยองเกล้า ถ้าเคยคิดถึงพระรัตนตรัยด้วยความต้องการให้พ้นอันตรายนั้นไป ขณะนั้นจิตสงบไหมคะ ลองคิดดู ขณะนั้นไม่ใช่สมถภาวนา แต่ว่าเป็นผู้ที่ระลึกถึงพระพุทธคุณจริงๆ แล้วสงบจริงๆ จิตที่สงบกับจิตที่ไม่สงบ จิตไหนจะดีกว่ากัน แม้ในขณะที่กำลังมีอันตราย หรือมีความกลัว มีเหตุการณ์ที่ทำให้ขนพองสยองเกล้า แล้วสงบในขณะนั้น ย่อมดีกว่าจิตที่ไม่สงบ

    เพราะฉะนั้นการระลึกถึงพระรัตนตรัยในเวลาที่เผชิญกับอันตรายต่างๆ อย่าลืมว่า เพื่อให้กุศลจิตเกิดแล้วสงบ เมื่อสงบแล้วไม่หวั่นไหว ไม่ว่าภัยอันตรายนั้นๆ จะเกิดขึ้นเฉพาะหน้า ก็เป็นผู้ไม่หวั่นไหว เพราะระลึกถึงกรรม ระลึกถึงกุศล ระลึกถึงพระคุณที่พระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงแล้วได้ประพฤติปฏิบัติตาม เมื่อระลึกอย่างนี้ไม่ว่าอันตรายนั้นจะน่ากลัว น่าขนพองสยองเกล้าสักเท่าไร จิตก็สงบได้ แต่ว่าไม่ใช่ให้ระลึกเพียงเพื่อให้อันตรายนั้นผ่านไป แล้วจิตในขณะนั้นไม่สงบเลย

    เคยเป็นอย่างนี้ไหมคะ บ่อย ไม่ใช่สมถภาวนาใช่ไหมคะ เพราะฉะนั้นเปลี่ยนได้สำหรับการระลึกถึงพระรัตนตรัย หรือพระพุทธคุณ อย่าลืมว่า เพื่อให้กุศลจิตเกิดแล้วสงบ


    หมายเลข 5181
    3 ส.ค. 2567