สภาพนามธรรมต่างกันเป็นจิตและเจตสิก
ผู้ฟัง ผมยังสงสัยเรื่องจิตกับเจตสิกอยู่ ที่ว่าจิตเป็นใหญ่เป็นประธาน จิตก็มีอกุศล เจตสิกก็มีอกุศล แต่เวลาจิตเกิดอกุศล เขาไม่มีกำลังหรืออย่างไรต้องอาศัยเจตสิก
ท่านอาจารย์ เราจะต้องพูดถึงขณะที่มีจิตเกิดขึ้น มีจิตเป็นสภาพรู้ ต้องมีสิ่งที่ถูกรู้ นามธรรมที่รู้มีสองอย่าง จิตก็รู้ เจตสิกก็รู้ แต่ว่าจิตเป็นใหญ่เป็นประธานเฉพาะในการรู้แจ้งลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ เช่นเสียง ทำไมเรารู้ว่ามีหลายเสียง ก็เพราะเหตุว่าจิตเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งลักษณะของเสียงในขณะนั้นแต่ละเสียง จึงรู้ว่าเสียงต่างๆ ไม่เหมือนกัน แต่สำหรับความรู้สึกซึ่งเป็นเจตสิก ไม่ใช่จิต ความรู้สึกเป็นสภาพธรรมอีกชนิดหนึ่งซึ่งเกิดพร้อมจิต ไม่ว่าจิตจะรู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด จะต้องมีความรู้สึกประเภทหนึ่งประเภทใดเกิดร่วมด้วย เช่นขณะที่เห็น จะกล่าวว่าเมื่อเห็นแล้วไม่รู้สึกอะไร ความจริงมีสภาวธรรมซึ่งเป็นเจตสิก ซึ่งชื่อว่า “เวทนาเจตสิก” เป็นสภาพที่ต้องรู้สึก เกิดแล้วต้องรู้สึกในสิ่งที่ปรากฏ ซึ่งความรู้สึกนั้นมีต่างกันเป็น ๕ อย่าง ความรู้สึกที่เป็นสุข๑ ความรู้สึกที่เป็นทุกข์๑ สองอย่างนี้หมายความถึงทางกาย เช่นเวลาที่เจ็บไข้ได้ป่วย ความรู้สึกนั่นเองเกิดขึ้น เป็นสภาพธรรม เป็นสังขารธรรม เป็นสังขตธรรม แต่ไม่ใช่จิต ความรู้สึกไม่ใช่จิต แต่ว่าความรู้สึกขณะที่เป็นทุกข์ขณะนั้นเป็นความรู้สึกชนิดหนึ่งซึ่งมีจริง ต้องอาศัยกายจึงจะเกิดขึ้นได้ ถ้าไม่มีกาย ไม่หิว ไม่ปวด ไม่เมื่อย ไม่เป็นโรคต่างๆ ทุกขเวทนาเกิดขึ้นไม่ได้เลย
เพราะฉะนั้นความรู้สึกเป็นทุกข์ทางกาย๑ ความรู้สึกเป็นสุขทางกาย๑ อีก ๓ เป็นความรู้สึกทางใจ เช่น โสมนัส (ดีใจ) , โทมนัส (เสียใจ), อุเบกขา หรืออทุกขมสุข หมายความว่าไม่สุขไม่ทุกข์
เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่าวันหนึ่งๆ ที่จิตเกิดขึ้น จะต้องมีเจตสิกชนิดหนึ่งเกิดร่วมด้วยทุกครั้ง แต่ไม่ใช่จิต เพราะจิตไม่ได้รู้สึกเป็นสุขเป็นทุกข์ แต่เจตสิกชนิดนั้นเป็นสภาพที่รู้สึกในสิ่งที่จิตกำลังรู้ เช่นในเสียง เสียงบางเสียงนี่ไม่ชอบเลยใช่ไหม ขณะที่ไม่ชอบ ความรู้สึกขณะนั้นเป็นทุมนัส ใจที่ไม่ดี รวมกันแล้วก็ใช้คำว่า “โทมนัสเวทนา” หมายความว่าเป็นความรู้สึกที่ไม่สบายใจ แม้เพียงเล็กน้อย น้อยมากเช่น ความขุ่นใจ ถ้าเห็นฝุ่นละอองแม้นิดเดียว เราเกิดขุ่นใจนิดเดียวถ้าเห็นมากๆ ความขุ่นใจของเราก็มากขึ้น เป็นความไม่สบายใจที่มากขึ้น ความรู้สึกที่ไม่สบาย เป็นสภาพธรรมที่เป็นเจตสิก ไม่ใช่จิต เป็นโทมนัสเวทนา
เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกใดๆ ในวันหนึ่งๆ ก็เกิดขึ้นเพราะจิต เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์ใด เวทนาเจตสิกซึ่งเกิดกับจิตนั้นก็มีความรู้สึกในอารมณ์นั้นต่างๆ อาจจะเป็นทุกข์หรือสุขทางกาย โสมนัสหรือโทมนัสทางใจ และก็ความรู้สึกเฉยๆ เช่นขณะนี้ถ้าถามว่ารู้สึกยังไง จะตอบว่ายังไง ตอบได้ไหม กรุณาตอบด้วย ขณะนี้รู้สึกยังไง
ผู้ฟัง ก็รู้สึกเฉยๆ ครับ
ท่านอาจารย์ เฉยๆ เมื่อไหร่คะ
ผู้ฟัง ก็จะรู้เป็นบางขณะครับ
ท่านอาจารย์ ธรรมจะมีคำตอบ ไม่สิ้นสุด และจะมีคำถามไม่สิ้นสุดด้วย ถ้าถามว่ารู้สึกเฉยๆ จะถามต่อไปว่าเมื่อไหร่ ถ้าเป็นความที่เจาะจง ก็เป็นความละเอียดขณะที่เห็น หรือว่าขณะที่ได้ยิน หรือว่าขณะที่ได้กลิ่น หรือว่าขณะที่ลิ้มรส เพราะว่าจิตจะต้องมีทางรู้อารมณ์ ๖ ทาง
ที่มา ...