ความจริงธรรมดาที่เป็นสัจธรรมที่รู้ได้ยาก


    ผู้ฟัง เจตสิก ๕๒ นั้น ถ้าเป็นกุศลเจตสิกที่ประกอบจิต ก็เป็นลักษณะที่เป็นกุศล ปรุงแต่งหมายถึงลักษณะของเจตสิก ใช่ หรือไม่

    ท่านอาจารย์ รูปปรุงแต่งรูป กรรมก็ปรุงแต่ง สภาพธรรมที่เกิดปรากฏขณะนี้ แต่ละอย่างเหมือนไม่ดับ และเหมือนไม่เกิด เหมือนมีอยู่ตลอดเวลา แต่ความจริง หากค่อยๆ เข้าใจให้ถูกต้องตามเหตุผลที่ผู้ที่ตรัสรู้ และทรงแสดง แสดงถึงความต่างกันของปัญญาอย่างมาก ว่า ผู้ที่ไม่รู้ก็ไม่รู้เลย แต่ผู้ที่ตรัสรู้ ทรงรู้ว่าแม้แต่สภาพนี้ที่เหมือนมีอยู่แล้ว ความจริงเกิดแล้วก็ดับด้วย และที่จะเกิดได้เพราะว่ามีปัจจัย มีเครื่องปรุงแต่งมีสิ่งที่ประกอบที่จะทำให้สภาพธรรมนี้เกิดขึ้น โดยที่ว่าใครจะรู้ หรือไม่รู้ แม้แต่จิต ๑ขณะที่เห็น ก็ไม่รู้เลยว่าไม่ใช่เรา แต่เป็นธาตุชนิดหนึ่งซึ่งมีจริง ส่วนใหญ่คิดถึงรูปธาตุ แต่ความจริงมีธาตุอีกชนิดหนึ่ง คือนามธาตุ ถ้าไม่มีนามธาตุ ไม่มีอะไรเดือดร้อนเลย โลกก็ไม่ปรากฏ ถึงจะมีรูปก็ไม่ได้ปรากฏ เพราะไม่มีธาตุรู้ หรือสภาพรู้ที่เห็น ที่ได้ยินรูปนั้นๆ

    เพราะฉะนั้นแสดงให้เห็นว่า มีสิ่งที่เหมือนธรรมดา แต่ลึกลงไปคือสัจจธรรม ความจริงที่ผู้ตรัสรู้ ไม่ได้ตรัสรู้อย่างอื่นเลย แต่ตรัสรู้ความจริงของสิ่งที่กำลังมีในขณะนี้ว่า เป็นสังขารธรรม คือเป็นสิ่งที่เกิดเพราะมีปัจจัยหลายประการปรุงแต่ง อาจจะเกิดร่วมกันก็ได้ หรือว่าเป็นปัจจัยที่แล้วมา เช่น กรรมในอดีตที่ได้กระทำแล้ว เป็นปัจจัยให้จิตในขณะนี้เกิดได้ เพราะฉะนั้น ให้เข้าใจให้มั่นคงว่า ขณะนี้เป็นธรรม และธรรมที่มี ๒ อย่าง คือ ประการหนึ่งเป็นสภาพที่ไม่รู้อะไรเลย และเป็นสภาพรู้อีกประการหนึ่ง เพื่ออบรมปัญญาที่จะประจักษ์แจ้ง ตามลำดับอย่างนี้ คือ รู้ว่าลักษณะของรูปเป็นอย่างหนึ่ง ส่วนลักษณะของสภาพรู้ หรือธาตุรู้ ไม่มีใครเห็นเลย แต่มีจริงๆ ในชีวิตประจำวันตั้งแต่เกิดจนตาย ต้องเป็นสภาพรู้ ซึ่งเกิดขึ้นรู้ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ แล้วก็ดับไป กล่าวถึงสิ่งที่กำลังมีอยู่ในขณะนี้ให้เข้าใจว่า เกิดแล้ว เป็นความจริง แต่ยังไม่ได้กล่าวถึงเหตุปัจจัยใดๆ ทั้งสิ้น เพียงแต่ให้เข้าใจคำเพิ่มเติม นอกจากธรรม นามธรรม รูปธรรม เพื่อให้เข้าใจคำว่า สังขารธรรม และสังขตธรรม เพื่อที่จะให้เห็นความต่างเล็กน้อยว่า สังขตธรรม หมายถึง สิ่งที่ปรากฏเกิดขึ้นในขณะนี้เพราะปรุงแต่งแล้ว แต่ว่าลักษณะของสภาพธรรมที่เกิดต้องมีปัจจัยปรุงแต่ง จะเกิดขึ้นเองไม่ได้

    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 12


    หมายเลข 5206
    16 ม.ค. 2567