พื้นฐานคือให้ทราบว่าเป็นธรรมที่ปรากฏในขณะนี้


    ผู้ฟัง รูป ๒๘ และนามธรรม ๕๓ ปรุงแต่งด้วยความสามารถเฉพาะตัว หรือด้วยปัจจัยของสภาพธรรม

    ท่านอาจารย์ ขณะนี้เรายังไม่กล่าวถึงจำนวนของรูป และนาม แต่มีนามธรรม และมีรูปธรรม ขณะนี้ ให้เข้าใจลักษณะของนามธรรม และรูปธรรมที่ต่างกัน และต่อไปจะเห็นได้ว่าต่างกันอย่างไร มากมายขนาดไหน แต่ให้ทราบเป็นพื้นฐานว่าเป็นธรรม เมื่อเป็นธรรมแล้วเกิดแล้วด้วย แล้วดับแล้วด้วย แต่ไม่เคยเข้าใจเลย การเข้าใจธรรม ไม่ใช่ไปที่อื่นแล้วจะเข้าใจธรรม แต่ขณะนี้มีธรรมที่เกิดแล้วปรากฏ เพราะฉะนั้น ความเข้าใจก็จะต้องเข้าใจสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนี้ ซึ่งได้ยินแต่เพียงชื่อว่า นามธรรมกับรูปธรรม แต่ชื่อบ่งถึงลักษณะ หรือความหมายของสิ่งที่มีว่า ลักษณะหนึ่งที่ใช้คำว่านามธรรม เพราะว่าไม่มีรูปใดๆ ทั้งสิ้น จะไปจับต้องกระทบสัมผัสไม่ได้เลย แต่เป็นธาตุที่น่าอัศจรรย์ เพราะสามารถรู้ได้ทุกอย่าง เช่น ในขณะนี้มีสิ่งปรากฏ เพราะมีสภาพที่กำลังเห็น ซึ่งเป็นธาตุรู้ ซึ่งไม่มีรูปร่างเลย ธาตุรู้มืดสนิท เพราะไม่มีสีสันวรรณะใดๆ ไม่ใช่เสียง ไม่ใช่กลิ่น ไม่ใช่รส แต่สามารถที่จะเห็นสิ่งที่สว่างทางตาในขณะนี้ สิ่งที่มีจริงเป็นจริงอย่างไร ถ้ามีพื้นฐานที่มั่นคงที่จะเข้าใจ เวลาที่จะประจักษ์ลักษณะของสภาพธรรมนั้น ก็ไม่คลาดเคลื่อน ต้องเป็นความจริง ตรงตามลักษณะจริงๆ เพราะฉะนั้นลักษณะจริงขอให้คิดถึงขณะที่กำลังเห็น ลักษณะที่เห็นมืดสนิท สามารถรู้ ในความมืดสนิทเป็นธาตุรู้ที่สามารถเห็นสิ่งที่ปรากฏที่สว่าง นี่ก็เป็นทางตา ถ้าเป็นทางหู ขณะที่เสียงปรากฏ เสียงไม่สว่างเลย แต่มีลักษณะของเสียงที่ธาตุรู้นั้นกำลังได้ยินเสียง ตัวธาตุรู้มืดสนิท แต่เสียงเป็นเสียงอย่างที่กำลังปรากฏ นี่คือลักษณะของสภาพธรรมตามความเป็นจริง ซึ่งถ้าไม่รู้ก็เป็นเรา มีความยึดถือว่าเป็นเราทุกอย่างที่ปรากฏ เพราะฉะนั้น การฟังพระธรรมก็ต้องรู้ประโยชน์ว่า เพื่อให้เกิดปัญญาของเราเองที่จะค่อยๆ เข้าใจถูก ในลักษณะของสภาพธรรมอย่างมั่นคง พระธรรมที่ทรงแสดงไว้ละเอียด ลึกซึ้งมาก กำลังจะเป็นผู้ที่ก้าวไปสู่ฝั่งมหาสมุทร และเห็นความกว้างใหญ่ของมหาสมุทรคือ พระธรรมเทศนาจากการตรัสรู้ และจะรู้ว่าเราสามารถที่จะเข้าใจได้เท่าไร แต่สิ่งที่มีจริงแสดงให้เห็นว่า เป็นคำสอนของผู้ที่ตรัสรู้แน่นอน จึงได้ทรงแสดงสิ่งที่มีจริงซึ่งใครไม่สามารถจะรู้ได้ ให้คนอื่นสามารถที่จะค่อยๆ เข้าใจได้

    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 12


    หมายเลข 5207
    16 ม.ค. 2567