เจริญภาวนาเสมอด้วยแผ่นดิน


    จะเห็นได้จากมหาราหุโลวาทะสูตร ซึ่งพระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงลักษณะของรูป คือธาตุดินส่วนต่างๆ ได้แก่ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง อย่างในปฏิกูลมนสิการบรรพ ในกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน โดยความว่า ส่วนต่างๆ เหล่านั้นเป็นปฐวีธาตุภายใน แล้วพระผู้มีพระภาคตรัสว่า

    ก็ปฐวีธาตุ เป็นภายในก็ดี เป็นภายนอกก็ดี อันใด ปฐวีธาตุนั้นเป็นปฐวีธาตุเหมือนกัน. ปฐวีธาตุนั้น เธอพึงเห็นด้วยปัญญาอันชอบตามเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่ตนของเรา ดังนี้. เพราะบุคคลเห็นปฐวีธาตุนั้น ด้วยปัญญาอันชอบตามเป็นจริงอย่างนี้แล้วย่อมเบื่อหน่ายในปฐวีธาตุ จิตย่อมคลายกำหนัดในปฐวีธาตุ.

    แล้วต่อไปก็เป็นอาโปธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุ อากาศธาตุ อย่างข้อความที่ได้กล่าวในสูตรต่างๆ พระผู้มีพระภาคตรัสต่อไปว่า

    ดูกรราหุล เธอจงเจริญภาวนา (อบรมจิต) เสมอด้วยแผ่นดินเถิด เพราะเมื่อเธอเจริญภาวนาเสมอด้วยแผ่นดินอยู่ ผัสสะอันเป็นที่ชอบใจ และไม่ชอบใจ ที่เกิดขึ้นแล้ว จักไม่ครอบงำจิตได้. ดูกรราหุล เปรียบเหมือนคนทั้งหลายทิ้งของสะอาดบ้าง ไม่สะอาดบ้าง คูถบ้าง มูตรบ้าง น้ำลายบ้าง น้ำหนองบ้าง เลือดบ้าง ลงที่แผ่นดิน แผ่นดินจะอึดอัดหรือระอา หรือเกลียดของนั้นก็หาไม่ ฉันใด เธอจงเจริญภาวนาเสมอด้วยแผ่นดินฉันนั้นแล เพราะเมื่อเธอเจริญภาวนาเสมอด้วยแผ่นดินอยู่ ผัสสะอันเป็นที่ชอบใจ และไม่ชอบใจ ที่เกิดขึ้นแล้ว จักไม่ครอบงำจิตได้.

    ได้ความเข้าใจจากพยัญชนะหรือพระดำรัสของพระผู้มีพระภาคตอนนี้บ้างไหม ไม่มีเลยที่จะให้บังคับที่จะให้กั้น แต่ว่าให้เจริญอบรมจิตเสมอด้วยแผ่นดิน เพราะเมื่อเธอเจริญภาวนาเสมอด้วยแผ่นดินอยู่ ผัสสะอันเป็นที่ชอบใจ และไม่ชอบใจ ที่เกิดขึ้นแล้ว จักไม่ครอบงำจิตได้. ไม่ได้ห้ามว่าอย่าเกิด มีไหมว่า กลั้นไว้อย่าให้เกิดโลภ อย่าให้เกิดความพอใจไม่พอใจ มีไหมในพระดำรัสของพระผู้มีพระภาค ผัสสะอันเป็นที่ชอบใจ และไม่ชอบใจ ที่เกิดขึ้นแล้ว จักไม่ครอบงำ ไม่ครอบงำด้วยความเป็นตัวตน ด้วยทิฏฐิ ด้วยตัณหา ด้วยมานะ นี่คือประโยชน์ที่ได้รับจากการฟังพระดำรัสโดยตรงทีเดียว เกื้อกูลแก่การเจริญสติปัฏฐาน ให้เจริญได้ถูกต้องด้วย ไม่ได้บังคับท่านพระราหุลว่าอย่าให้ไปประสบกับอิฏฐารมณ์ อนิฏฐารมณ์ อย่าให้เกิดโลภะโทสะหรืออะไรเลย เพราะเหตุว่าไม่ว่าจะเป็นท่านพระราหุล หรือท่านพระภิกษุในครั้งนู้น ซึ่งมีตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ มีวิบากกรรมที่ได้สะสมที่จะได้กระทบอารมณ์ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ พี่พอใจบ้างไม่พอใจบ้าง เมื่อกิเลสยังมีเป็นเหตุปัจจัย ก็เกิดขึ้น ไม่ใช่ว่าไม่เกิด แต่ว่า พระผู้มีพระภาคตรัสว่า เพราะเมื่อเธอเจริญภาวนาเสมอด้วยแผ่นดินอยู่ ผัสสะอันเป็นที่ชอบใจ และไม่ชอบใจ ที่เกิดขึ้นแล้ว จักไม่ครอบงำจิตได้ จักไม่ครอบงำ ก็เพราะผู้นั้นเจริญสติ เวลาที่ให้เจริญอบรมจิตเสมอด้วยแผ่นดิน ไม่ใช่ให้นึกเอา แต่ว่าท่านพระราหุลท่านก็เจริญสติปัฏฐาน ได้ฟังธรรม ระลึกในกาย ในเวทนา ในจิต ในธรรม ในนาม ในรูป ทางตา ทางหู ทั้งจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ แต่ถ้าจิตยังไม่เสมอด้วยแผ่นดิน ย่อมทำให้ยึดถือนามรูปที่กำลังกระทบด้วยความพอใจไม่พอใจ ด้วยความเป็นตัวตน ด้วยทิฏฐิบ้าง ด้วยตัณหาบ้าง ด้วยมานะบ้าง แล้วแต่คุณธรรมของบุคคลผู้กำลังเจริญสติ เวลาที่กระทบกับความชอบใจบ้างไม่ชอบใจบ้าง ขณะที่ไม่รู้ว่าเป็นแต่เพียงนามเป็นแต่เพียงรูป ไม่ละไม่คลาย ย่อมถูกครอบงำด้วยโลภะบ้าง โทสะบ้าง โมหะบ้างในขณะนั้นได้ แต่ว่าพระผู้มีพระภาคปรับให้ท่านพระราหุลละคลายความที่จะยึดถือให้จิตที่กำลังเจริญอบรมภาวนานั้นเสมอด้วยแผ่นดินที่จะไม่ยึดมั่นด้วยความเป็นตัวตน หรือว่าด้วยตัณหา ด้วยมานะใดๆ ทั้งสิ้น


    หมายเลข 5264
    2 ส.ค. 2567