สติสามารถที่จะเกิดแทรกไปในทุกอารมณ์
ในชีวิตของแต่ละคน เลือกเห็นสิ่งที่พอใจอย่างเดียวไม่ได้ เลือกที่จะรู้รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพารมณ์แต่ที่ชอบใจอย่างเดียวไม่ได้ เพราะฉะนั้นเมื่อได้กระทบกับอารมณ์ที่พอใจบ้าง ไม่พอใจบ้าง มีราคะเกิดขึ้นบ้าง โทสะเกิดขึ้นบ้าง อรติเกิดขึ้นบ้าง เหล่านี้ ใครยับยั้งความคิดของคนได้ไหม ชีวิตปกติประจำวัน
จะละ สั่งให้ไม่ให้คิดได้ไหม ปกติไม่ได้ พระธรรมวินัยไม่เคยบังคับให้ผิดปกติ แต่ว่าธรรมใดที่จะเกื้อกูลให้เกิดกุศลทุกประการ เมื่อผู้นั้นเจริญกุศลอย่างนั้น สติสามารถที่จะแทรกไปตามอารมณ์ได้ทุกอารมณ์ แทนที่จะให้ตรึกเป็นพยาปาท อรติ ปฏิฆะ วิหิงสา ก็ให้ผู้นั้นเจริญกุศล แล้วสติที่เจริญเป็นปกติ เพราะได้ฟังธรรม เป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติ ก็สามารถจะแทรกรู้ลักษณะของนามของรูปทั้งปวงได้ แล้วก็เป็นปัจจัยให้รู้อริยสัจจธรรม
เป็นชีวิตจริงๆ ไม่ใช่ว่าห้าม อย่าคิด ให้รู้แต่เฉพาะแค่เห็น แค่เสียง แค่สี หรืออะไรต่างๆ เหล่านั้น นั่นไม่ถูก ไม่ใช่ว่าห้ามอย่างนั้น แต่ว่าให้เจริญกุศลทุกประการ แล้วการเจริญสติเป็นปกติก็จะทำให้สติระลึกรู้ในอารมณ์ทั้งปวงได้ ผู้มีพระภาคไม่ได้ตรัสแต่ให้เจริญสติปัฏฐานอย่างเดียว ให้แค่รู้สี เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ห้ามการคิดนึก ห้ามการรู้เรื่อง ไม่มีในพระไตรปิฎก เพราะว่าไม่ใช่ของจริง ไม่ใช่สิ่งที่เป็นปกติ เพราะเหตุว่าถ้าปัญญาจะรู้เพียงแค่นั้นแล้วไม่ชื่อว่าปัญญา เพราะเหตุว่าถ้าเป็นปัญญาที่แท้จริง ต้องรู้ได้ทุกอย่างถูกต้องตามความเป็นจริง จึงจะชื่อว่าเป็นปัญญาจริงๆ
เพราะฉะนั้นชีวิตของแต่ละท่าน พระภิกษุทั้งหลายก็เป็นปกติ ฟังธรรมแล้วแต่สติจะตรึกไปในเรื่องใด ก็ให้เป็นไปในทางกุศล และก็ความเป็นผู้มีปกติเจริญสติก็ทำให้ระลึกรู้ลักษณะของนาม และรูปตามปกติ ไม่มีการบังคับเลย
ทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเมตตา อุเบกขา กรุณา มุทิตา สติสามารถที่จะแทรกไปในอารมณ์ทั้งปวงได้ระลึกรู้ลักษณะของนามของรูปในขณะนั้นได้ ไม่ใช่บังคับว่า อย่าคิด อย่ารู้เรื่อง อย่ารู้ความหมาย ในพระไตรปิฎกไม่มีอย่างนั้น จิตของใครที่จะห้ามไม่ให้คิด เป็นไปไม่ได้ แต่แทนที่จะคิดเป็นอกุศล ก็ให้เจริญอบรมในทางกุศล เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่า พระผู้มีพระภาคตรัสให้พระโสดาบันบุคคลระลึกเป็นไปในพุทธานุสติ ธรรมานุสติ สังฆานุสติ เพราะรู้ว่าการคิดนึก ยับยั้งไม่ได้ ห้ามไม่ให้คิดไม่ได้ แต่ว่า สิ่งใดที่ควรระลึก คือ พุทธานุสติ ธรรมานุสติ สังฆานุสติ และการที่เป็นผู้มีปกติเจริญสติ ก็ทำให้สติระลึกรู้ลักษณะของนามของรูปในขณะนั้นตามความเป็นจริงได้ แล้วก็ละคลายกิเลสได้มากขึ้น แต่ไม่ใช่ไปให้บังคับไม่ให้รู้ ให้รู้แค่สี ให้รู้แค่เสียง ไม่ให้รู้ความหมายไม่ให้คิดนึก ไม่ให้ชอบไม่ชอบอย่างนั้น