สติปัฏฐานสูตร - อสุภกรรมฐาน


    สำหรับบรรพต่อไป ในกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เป็นเรื่องของอสุภะ ในมหาสติปัฏฐานสูตร ต่อจากธาตุมนสิการบรรพ มีข้อความว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อีกข้อหนึ่ง ภิกษุเหมือนกะว่า พึงเห็นสรีระที่เขาทิ้งไว้ในป่าช้า ตายแล้ววันหนึ่งบ้าง สองวันบ้าง สามวันบ้าง ที่ขึ้นพอง มีสีเขียวน่าเกลียด มีน้ำเหลืองไหลน่าเกลียด เธอย่อมน้อมเข้าสู่กายนี้แหละว่า ถึงว่ากายอันนี้เล่าก็มีอย่างนี้เป็นธรรมดา คงเป็นอย่างนี้ ไม่ล่วงความเป็นอย่างนี้ได้ ดังพรรณนามานี้

    ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกาย ในกายภายในบ้าง พิจารณาเห็นกาย ในกายภายนอกบ้าง พิจารณาเห็นกาย ในกายทั้งภายในทั้งภายนอกบ้าง พิจารณาเห็นธรรม คือ ความเกิดขึ้นในกายบ้าง พิจารณาเห็นธรรม คือ ความเสื่อมในกายบ้าง พิจารณาเห็นธรรม คือ ทั้งความเกิดขึ้น ทั้งความเสื่อมในกายบ้าง ย่อมอยู่

    อีกอย่างหนึ่ง สติของเธอที่ตั้งมั่นอยู่ว่า กายมีอยู่ ก็เพียงสักว่าความรู้ เพียงสักว่าอาศัยระลึกเท่านั้น เธอเป็นผู้อันตัณหา และทิฏฐิไม่อาศัยอยู่แล้ว และไม่ถือมั่นอะไรๆ ในโลก

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล ภิกษุชื่อว่า พิจารณาเห็นกายในกายอยู่

    เป็นของที่แน่นอนทีเดียวที่ว่า ถ้าตายแล้ววันหนึ่งบ้าง ๒ วันบ้าง ๓ วันบ้าง ก็ขึ้นพอง มีสีเขียวน่าเกลียด มีกายของใครบ้างที่จะไม่เป็นอย่างนี้ แต่ใครจะรู้ว่า อาจจะเป็นเย็นนี้ พรุ่งนี้ อีกเดือนหนึ่ง หรือว่าอีกปีหนึ่ง ก็ไม่มีใครที่จะพ้นสภาพอันนี้ได้เลย ถ้ามีดินน้ำไฟลมเกิดขึ้นปรากฏแล้ว ก็ต้องดับไป เพราะเหตุว่า สังขารธรรมทั้งหลายไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา สภาพที่ไม่เที่ยงนั้น เป็นทุกข์ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน ตั้งแต่เกิดทีเดียว เพียงขณะแรกที่เกิด รูปที่เกิดพร้อมปฏิสนธิจิตก็ดับ แล้วก็เกิดสืบต่อมาเรื่อยๆ เพราะฉะนั้น ความสิ้นไปของรูปที่เกิดปรากฏ มากเข้าๆ ก็ปรากฏให้เห็นเป็นความเสื่อม เป็นความแปรปรวนของร่างกาย ในขณะที่ยังมีชีวิตอยู่ ก็มีรูปที่เกิดจากกรรมบ้าง เกิดจากจิตบ้าง เกิดจากอุตุบ้าง เกิดจากอาหารบ้าง ไม่เหมือนกับซากศพที่มีแต่รูปที่เกิดจากอุตุ ไม่มีรูปที่เกิดจากกรรม ไม่มีรูปที่เกิดจากจิต ไม่มีรูปที่เกิดจากอาหาร และขอให้ดูว่า ต้นไม้ใบหญ้าทั้งหลายที่เกิดจากอุตุ ก็ยังไม่น่ารังเกียจ ไม่น่าเกลียดเท่ากับซากศพ เท่ากับดินน้ำไฟลมที่เกิดเพราะกรรม เพราะจิต เพราะอุตุ เพราะอาหาร แล้วเมื่อถึงกาลที่จะต้องเสื่อมสลายแปรปรวน ก็กลายเป็นซากที่ขึ้นพอง น่าเกลียด ยิ่งกว่าต้นไม้ใบไม้ที่มองเห็นเวลาที่ต้นไม้ใบไม้เหี่ยวแห้งตายไป ไม่น่ารังเกียจเท่ากับซากศพ ซึ่งทุกคนจะต้องเป็นอย่างนั้น ไม่มีใครหนีพ้นเลย ควรระลึกถึงความจริงข้อนี้ ระลึกบ้างหรือเปล่า ควร แต่ไม่ค่อยจะระลึก ด้วยเหตุนี้จึงเป็นกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เพื่อให้ระลึกแล้วพิจารณารู้ชัดในลักษณะของนาม และรูปที่กำลังปรากฏ จุดประสงค์ของการเจริญสติปัฏฐาน ก็เพื่อให้รู้ชัดในลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ แต่เพราะเหตุว่า ไม่ค่อยจะระลึกรู้ลักษณะของจริงตามปกติ จึงต้องมีเครื่องระลึกรู้หลายๆ ประการ รวมทั้งความเป็นอสุภะของกายที่ทุกคนก็จะต้องเป็นอย่างนั้น ในวันหนึ่ง


    หมายเลข 5290
    2 ส.ค. 2567