เจริญอสุภะเพื่อละความติดในรูป
บรรพต่อไป ก็เป็นเรื่องของอสุภะเช่นเดียวกัน สำหรับอสุภะทั้งหมดมีด้วยกัน ๙ บรรพ ข้อความต่อไปมีว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อีกข้อหนึ่ง ภิกษุเหมือนกะว่า พึงเห็นสรีระที่เขาทิ้งไว้ในป่าช้า อันฝูงกาจิกกินอยู่บ้าง ฝูงนกตะกรุมจิกกินอยู่บ้าง ฝูงแร้งจิกกินอยู่บ้าง หมู่สุนัขกัดกินอยู่บ้าง หมู่สุนัขจิ้งจอกกัดกินอยู่บ้าง หมู่สัตว์ตัวเล็กๆ ต่างๆ กัดกินอยู่บ้าง เธอย่อมน้อมเข้ามาสู่กายนี้แหละว่า ถึงร่างกายอันนี้เล่าก็มีอย่างนี้เป็นธรรมดา คงเป็นอย่างนี้ ไม่ล่วงพ้นความเป็นอย่างนี้ไปได้ ดังพรรณนามาฉะนี้
ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกาย ในกายภายในบ้าง พิจารณาเห็นกาย ในกายภายนอกบ้าง พิจารณาเห็นกาย ในกายทั้งภายใน และภายนอกบ้าง พิจารณาเห็นธรรม คือ ความเกิดขึ้นในกายบ้าง พิจารณาเห็นธรรม คือ ความเสื่อมในกายบ้าง พิจารณาเห็นธรรม คือ ทั้งความเกิดขึ้น ทั้งความเสื่อมในกายบ้าง ย่อมอยู่
อีกอย่างหนึ่ง สติของเธอที่ตั้งมั่นอยู่ว่า กายมีอยู่ ก็เพียงสักว่าอาศัยระลึกเท่านั้น เธอเป็นผู้อันตัณหา และทิฏฐิไม่อาศัยอยู่แล้ว และไม่ถือมั่นอะไรๆ ในโลก
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล ภิกษุชื่อว่า พิจารณาเห็นกายในกายอยู่
ถ้าไม่ระลึกอย่างนี้จะเป็นอย่างไร สีสวยจริง รูปสวยจริง มีความยินดีพอใจเกิดขึ้น แต่ถ้าระลึกได้ก็ไม่ติด สติสามารถที่จะเกิดขึ้น ระลึกรู้ลักษณะของนาม และรูปที่กำลังปรากฏในขณะนั้นได้ จึงควรระลึกเนืองๆ ถึงความเป็นอสุภะ ความเป็นซากศพ
เวลานี้เหมือนกับทุกคนยังไม่เป็นอย่างนั้นเลย แต่ว่า อีกร้อยปีผ่านไป กระดูกทุกชิ้นที่อยู่ที่นี่ ก็เหมือนกับป่าช้าแห่งหนึ่ง เวลานี้ยังไม่เป็น มีมนุษย์ มีชีวิต อยู่กันเยอะแยะทีเดียว พูดคุย ยิ้มแย้มกัน สนุกสนานรื่นเริง แต่อีกร้อยปีจะเหลืออะไร เนื้อเหลือไหม ทุกสิ่งทุกอย่างก็จะปรากฏความเป็นอสุภะ ถ้าคิดอย่างนี้ ในขณะนี้ ถึงเห็นมีเนื้อมีหนัง ก็เหมือนกับกระดูก ระลึกได้ไหมอย่างนี้ ถ้าไม่ระลึกก็เพลินไป สวย ชอบ ถูกใจ เพลินไปแล้ว แต่ระลึกสักหน่อยเถิดว่า นั่นกระดูก หรือว่าเนื้อ ก็แล้วแต่จะฉาบทาติดเอาไว้มากน้อยเท่าไรตามกาลเวลาที่ว่า ตอนแรกก็อาจจะขึ้นพอง แล้วก็มีสีเขียวน่าเกลียด ต่อไปจนกระทั่งถึงความเป็นกระดูก ขอให้ระลึกได้เพื่อให้ปัญญาเกิดขึ้น รู้ชัดในลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ ในขณะนั้น
ขอเรียนให้ทราบว่า เพราะเหตุใด อสุภะจึงเป็นกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน
เพราะเหตุว่า ทั้งๆ ที่บุคคลอบรมเจริญสติ เนืองๆ บ่อยๆ ระลึกรู้ลักษณะของนามบ้าง รูปบ้าง ทางตาบ้าง ทางหูบ้าง ทางจมูกบ้าง ทางลิ้นบ้าง ทางกายบ้าง ทางใจบ้าง แต่ยังไม่บรรลุอริยสัจจธรรม ยังมีกิเลส เป็นปัจจัยให้กิเลสเกิดขึ้น อกุศลธรรมเกิดขึ้น นานาชนิด ในวันหนึ่งๆ มากมายแล้วแต่ว่าใครจะสะสมมามากน้อย
เวลาที่หลงลืมสติจึงมีมาก แล้วเวลาที่กำลังเจริญสติ แม้สติกำลังระลึกรู้ลักษณะของดิน ของน้ำ ของไฟ ของลม ของรูป ของนามใดๆ ก็ตาม แต่ยังไม่คลายเลย เพราะฉะนั้นการระลึกถึงความเป็นซากศพนี้ จะช่วยน้อมจิตของผู้นั้นให้ละคลายโดยอาศัยเครื่องระลึกคือซากศพ หรือลักษณะที่ปรากฏโดยความเป็นซากศพ นี้เป็นเรื่องของการอบรมอินทรีย์ ซึ่งถ้าท่านผู้ฟังยังไม่ได้อบรมอินทรีย์ ก็จะไม่ทราบเลย แต่ไม่ใช่ให้นึกเอา เรื่องของการเจริญสติปัฏฐาน การเจริญกายานุปัสสนาสติปัฏฐานทั้งหมดที่ได้กล่าวมาแล้วนั้น ไม่ใช่ให้ท่านผู้หนึ่งผู้ใดนึกเอา พระพุทธโอวาทที่ได้ทรงแสดงกับท่านพระราหุลว่า ให้อบรมเจริญภาวนา เสมอด้วยแผ่นดิน เสมอด้วยน้ำ เสมอด้วยไฟ เสมอด้วยลม เสมอด้วยอากาศ แต่ไม่ใช่ให้นึกเอา วันหนึ่งวันหนึ่งว่า ใครจะกระทบกระเทียบเปรียบเปรย ก็อย่าโกรธ อย่าอึดอัด อยากขุ่นเคืองใจ ทำตัวให้เหมือนกับแผ่นดินได้ เหมือนกับน้ำบ้าง เหมือนกับไฟบ้าง เหมือนกับลมบ้าง เหมือนกับอากาศบ้าง ไม่ใช่เพียงให้นึกเอา แต่หมายความว่า ในขณะที่กำลังเจริญสติรู้ลักษณะของนามของรูป ก็ให้จิตเสมอด้วยแผ่นดิน เสมอด้วยน้ำ เสมอด้วยไฟ เสมอด้วยลม เสมอด้วยอากาศ คือไม่ยึดถือสิ่งที่กำลังปรากฏนั้นว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน นี่ก็เป็นสิ่งที่จะต้องทราบดีในขณะที่เจริญสติ ก็จะต้องมีการระลึกถึงสภาพความเป็นจริงของสิ่งที่ปรากฏด้วย มิฉะนั้นแล้วปัญญาก็จะไม่เจริญขึ้น ไม่สามารถที่จะละคลายได้