พิจารณาความเสื่อมในกายให้สติระลึกนาม-รูปที่ปรากฏ
ประการต่อไป มีข้อความว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อีกข้อหนึ่ง ภิกษุเหมือนกะว่า พึงเห็นสรีระอันเขาทิ้งไว้ในป่าช้าเป็นร่างกระดูก ยังมีเนื้อ และเลือด ยังมีเส้นเอ็นผูกรัดอยู่ เธอย่อมน้อมเข้ามาสู่กายนี้แหละว่า ถึงร่างกายอันนี้เล่าก็มีอย่างนี้เป็นธรรมดา คงเป็นอย่างนี้ ไม่ล่วงความเป็นอย่างนี้ไปได้ ดังพรรณนามาฉะนี้
ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกายในกายภายในบ้าง พิจารณาเห็นกายในกายภายนอกบ้าง พิจารณาเห็นกายในกายทั้งภายในทั้งภายนอกบ้าง พิจารณาเห็นธรรม คือ ความเกิดขึ้นในกายบ้าง พิจารณาเห็นธรรม คือ ความเสื่อมในกายบ้าง พิจารณาเห็นธรรม คือ ทั้งความเกิดขึ้น ทั้งความเสื่อมในกายบ้าง ย่อมอยู่
อีกอย่างหนึ่ง สติของเธอที่ตั้งมั่นอยู่ว่า กายมีอยู่ ก็เพียงสักว่าความรู้ เพียงสักว่าอาศัยระลึกเท่านั้น เธอเป็นผู้อันตัณหา และทิฏฐิไม่อาศัยอยู่แล้ว และไม่ถือมั่นอะไรๆ ในโลก
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล ภิกษุชื่อว่า พิจารณาเห็นกายในกายอยู่
ข้อนี้ก็โดยนัยเดียวกัน เวลาที่เห็นร่างกระดูกยังมีเนื้อ และเลือด ยังมีเส้นเอ็นผูกรัดอยู่ เธอย่อมน้อมเข้ามาสู่กายนี้แหละว่า ถึงร่างกายอันนี้เล่าก็มีอย่างนี้เป็นธรรมดา เมื่อเห็นแล้วก็ไม่เพียงแต่คิดว่าเป็นอสุภะ เป็นซากศพข้างนอกเท่านั้น แม้ที่กายก็เป็นอย่างนี้ เพื่อจะได้ละคลายการยึดมั่นในร่างกายของตนเอง เคยพอใจ เคยยึดถือมากทีเดียวในร่างกายอันนี้ การยึดมั่นในร่างกายของตนเอง ประดับประดา บำรุงตกแต่ง สารพัดอย่าง แต่ถ้าระลึกอย่างนี้ ก็อาจจะทำให้มีสติเกิดขึ้น แล้วก็รู้ลักษณะของนาม และรูปที่กำลังปรากฏในขณะนั้น นี่เป็นข้อความตอนท้ายแม้ของอสุภะ บรรพนี้ก็เช่นเดียวกัน ข้อความสุดท้าย ก็จะต้องมีการ
พิจารณาเห็นกายในกายภายในบ้าง พิจารณาเห็นกายในกายภายนอกบ้าง พิจารณาเห็นกายในกายทั้งภายในทั้งภายนอกบ้าง พิจารณาเห็นธรรม คือ ความเกิดขึ้นในกายบ้าง พิจารณาเห็นธรรม คือ ความเสื่อมในกายบ้าง พิจารณาเห็นธรรม คือ ทั้งความเกิดขึ้น ทั้งความเสื่อมในกายบ้าง โดยอาศัย การระลึกถึงอสุภะ