ทรงแสดงเรื่องของกายทั้งหมดเพื่อให้สติระลึก


    ข้อความต่อไปมีว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อีกข้อหนึ่ง ภิกษุเหมือนกะว่า พึงเห็นสรีระที่เขาทิ้งไว้ในป่าช้า เป็นร่างกระดูกปราศจากเนื้อ แต่ยังเปื้อนเลือด ยังมีเส้นเอ็นผูกรัดอยู่ เธอย่อมน้อมเข้ามาสู่กายนี้แหละว่า ถึงร่างกายอันนี้เล่าก็มีอย่างนี้เป็นธรรมดา คงเป็นอย่างนี้ ไม่ล่วงความเป็นอย่างนี้ไปได้ ดังพรรณนามาฉะนี้

    ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกาย ในกายภายในบ้าง พิจารณาเห็นกาย ในกายภายนอกบ้าง พิจารณาเห็นกาย ในกายทั้งภายในทั้งภายนอกบ้าง พิจารณาเห็นธรรม คือ ความเกิดขึ้นในกายบ้าง พิจารณาเห็นธรรม คือ ความเสื่อมในกายบ้าง พิจารณาเห็นธรรม คือ ทั้งความเกิดขึ้น ทั้งความเสื่อมในกายบ้าง ย่อมอยู่

    อีกอย่างหนึ่ง สติของเธอที่ตั้งมั่นอยู่ว่า กายมีอยู่ ก็เพียงสักว่าความรู้ เพียงสักว่าอาศัยระลึกเท่านั้น เธอเป็นผู้อันตัณหา และทิฏฐิไม่อาศัยอยู่แล้ว และไม่ถือมั่นอะไรๆ ในโลก

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล ภิกษุชื่อว่า พิจารณาเห็นกายในกายอยู่

    การที่ได้อ่านสติปัฏฐานทั้งหมดนั้น ก็เพื่อที่จะให้ท่านผู้ฟัง ได้ฟังด้วยตัวของท่านเอง เพื่อที่จะให้หมดความเคลือบแคลงสงสัย ในพระพุทธโอวาท ในพระธรรมเทศนา มิฉะนั้นแล้วท่านก็อาจจะคิดว่า คงจะไม่ได้ทรงแสดงไว้อย่างนี้แน่ คงแต่ให้พิจารณากายของตนเองเท่านั้น ไม่ใช่พิจารณากายภายนอก หรือว่ากายของบุคคลอื่นด้วย นั่นก็เป็นเรื่องความคิดของท่านเอง ความเข้าใจของท่านเอง แต่ว่าจะถูกต้องตรงตามธรรมวินัยหรือไม่ นั่นก็เป็นสิ่งซึ่งท่านผู้ฟังควรจะได้สอบทานแล้วก็ควรได้ฟังข้อความในมหาสติปัฏฐานสูตรอย่างครบถ้วนสมบูรณ์จริงๆ ถ้าสงสัยก็ควรจะได้แก้ไขความสงสัยให้หมดไปเสีย เพื่อที่จะไม่ค้านกับพระธรรมวินัย แต่ว่าความเป็นจริงแล้วถ้าเข้าใจจุดมุ่งหมายว่า ปุถุชนมีกิเลสมาก ซึ่งเป็นปัจจัยให้หลงลืมสติ จึงได้ทรงแสดงเรื่องของกายทั้งหมด ทุกประการ เพื่อให้สติระลึก ตามพยัญชนะที่ว่า สติของเธอที่ตั้งมั่นอยู่ว่า กายมีอยู่ก็เพียงแต่สักว่าความรู้ เพียงสักว่าอาศัยระลึกเท่านั้น

    นามรูปเกิดขึ้นแล้วก็ดับไปอย่างรวดเร็ว ชั่วขณะที่ระลึกถึงความเป็นอสุภะของซากศพ คิดนิดเดียวหมดแล้ว สติจะระลึกที่นามอะไรต่อไป รูปอะไรต่อไปก็ได้ เพราะเหตุว่าอาศัยการระลึกถึงอสุภะนั้นเกิดขึ้นแล้ว เมื่อเกิดขึ้นแล้วก็หมดไป ก็เป็นปัจจัยทำให้สติเกิดขึ้นระลึกต่อไปถึงนามหรือรูป ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ก็ได้ ไม่ได้ให้จดจ้องอยู่ที่หนึ่งที่ใด หรือว่าให้เกินกว่านั้นเลย เพราะเหตุว่าสภาพของนามรูปนั้นเกิดดับอย่างรวดเร็วมาก เมื่อกายเป็นเพียงสักว่าอาศัยระลึกเท่านั้น ก็แล้วแต่ว่าปัญญาจะรู้ชัดในลักษณะของนามอะไร ของรูปอะไร


    หมายเลข 5297
    2 ส.ค. 2567