ผู้ที่เข้าใจการเจริญอสุภะ ทำไมยังรักสวยรักงาม


    ข้อความต่อไปมีว่า

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อีกข้อหนึ่ง ภิกษุเหมือนกะว่า พึงเห็นสรีระที่เขาทิ้งไว้ในป่าช้า เป็นร่างกระดูกปราศจากเนื้อ และเลือดแล้ว ยังมีเส้นเอ็นผูกรัดอยู่ เธอย่อมน้อมมาสู่กายนี้แหละว่า ถึงร่ายกายอันนี้เล่าก็มีอย่างนี้เป็นธรรมดา คงเป็นอย่างนี้ ไม่ล่วงความเป็นอย่างนี้ไปได้ ดังพรรณนามาฉะนี้

    ภิกษุย่อมพิจาณาเห็นกาย ในกายภายในบ้าง พิจารณาเห็นกาย ในกายภายนอกบ้าง พิจารณาเห็นกาย ในกายทั้งภายในทั้งภายนอกบ้าง พิจารณาเห็นธรรม คือ ความเกิดขึ้นในกายบ้าง พิจารณาเห็นธรรม คือ ความเสื่อมในกายบ้าง พิจารณาเห็นธรรม คือ ทั้งความเกิดขึ้น ทั้งความเสื่อมในกายบ้าง ย่อมอยู่

    อีกอย่างหนึ่ง สติของเธอที่ตั้งมั่นอยู่ว่า กายมีอยู่ ก็เพียงสักว่าความรู้ เพียงสักว่าอาศัยระลึกเท่านั้น เธอเป็นผู้อันตัณหา และทิฏฐิไม่อาศัยอยู่แล้ว และไม่ถือมั่นอะไรๆ ในโลก

    ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล ภิกษุชื่อว่า พิจารณาเห็นกายในกายอยู่

    ท่านผู้ฟังเรื่องจะสงสัยว่า คนที่ระลึกถึงความเป็นอสุภะหรือซากศพ ทำไมถึงยังรักสวยรักงามอยู่ เจริญสติปัฏฐานแล้วก็รู้ข้อความในมหาสติปัฏฐาน บรรพต่างๆ แต่ทำไมยังรักสวยรักงามอยู่

    เจริญสติปัฏฐานแล้วก็รู้ข้อความในมหาสติปัฏฐาน บรรพต่างๆ แต่ทำไมยังรักสวยรักงามอยู่ เกิดความสงสัยขึ้นบ้างไหม เพราะเหตุว่า มีใครบ้างที่จะระลึกถึงอสุภะซากศพได้ตลอดเวลา ไม่มี เพียงชั่วระลึกนิดเดียว ผู้ที่เจริญสติปัฏฐานทราบว่า ดับแล้ว หมดแล้ว มีลักษณะของนามอื่นรูปอื่นที่ผู้นั้นสะสมอบรมมาเป็นปัจจัยให้เกิดขึ้น แต่ว่าสติยังสามารถที่จะตามรู้นามอื่นรูปอื่นที่เกิดปรากฏเพราะเหตุปัจจัย และไม่ยึดถือว่าเป็นตัวตน นี่เป็นจุดที่สำคัญที่สุด การละกิเลส ต้องละเป็นขั้นๆ คือ ขั้นแรกต้องละความเห็นผิดที่ยึดถือนามรูปทั้งปวงว่าเป็นตัวตน การระลึกถึงอสุภะ มีขณะหนึ่งแล้วหมดไป แล้วก็ระลึกถึงอย่างอื่น เพราะมีปัจจัยที่ได้สะสมมาแล้วที่จะให้เกิดขึ้น เป็นอนัตตาไม่ใช่ไปนั่งบังคับว่าไม่ให้เกิด เพราะฉะนั้นเรื่องของอสุภกรรมฐานนี้จึงได้มีโดยนัยของสมถภาวนา กับโดยนัยของการเจริญปัญญา สำหรับนัยของการเจริญปัญญานั้น เพียงให้สติเกิดขึ้นระลึกรู้ว่าสติควรเกิดเนืองๆ บ่อยๆ ทุกขณะ ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ใด เห็นสิ่งใดก็ให้สติระลึกแล้วก็รู้ชัดในลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ แต่ไม่ใช่ฝืน ปิดบังกิเลสที่ได้สะสมมา ที่ไม่ใช่เป็นพระอริยบุคคล ไม่ได้บรรลุอริยสัจธรรมแล้วก็ไปฝืน บังคับไว้ แต่ไม่ว่าผู้ใดจะสะสมโลภะโทสะมามากสักเท่าไหร่ก็ตาม ผู้เจริญสติปัฏฐานระะลึกรู้สภาพของธรรมที่กำลังเกิดปรากฏเพราะเหตุปัจจัย ตามความเป็นจริงว่า สภาพนั้นๆ ไม่ใช่ตัวตน ไม่ใช่สัตว์บุคคล แล้วก็จะไปแลกเปลี่ยนกับอีกบุคคลหนึ่งก็ไม่ได้ บุคคลหนึ่งอาจจะขัดเกลาโลภะโทสะเบาบาง จนกระทั่งกุศลจิตเกิดมากในวันหนึ่งวันหนึ่ง เป็นผู้สงบ เป็นผู้อ่อนโยน เป็นผู้ที่เพียบพร้อมด้วยกุศล ส่วนอีกท่านหนึ่งก็สะสมเหตุปัจจัยของโลภะกล้า โทสะกล้า เพราะฉะนั้นการเจริญสติปัฏฐานจึงมีทั้งทุกขาปฏิปทา และสุขาปฏิปทา ผู้ที่เจริญสติปัฏฐานสุขาปฏิปทาก็เป็นผู้ที่มีกิเลสเบาบาง เพราะฉะนั้นสติก็ระลึกรู้ลักษณะของนามรูปที่มีกิเลสเบาบางนั้นเอง แต่ว่าถ้าผู้ใดเป็นทุกขาปฏิปทาผู้ปฏิบัติลำบาก เพราะเหตุว่ามีกิเลสกล้า มีโลภะกล้า มีโทสะกล้า สติขอผู้นั้นก็จะต้องระลึกรู้ลักษณะของนามของรูปที่เกิดปรากฏกับผู้นั้นจนกว่าจะละคลายได้ ไม่ใช่ว่าไปเปลี่ยน ไปทำเป็นอีกบุคคลหนึ่ง แล้วก็ไม่รู้ลักษณะสภาพนาม และรูปที่มีปัจจัยที่เกิดขึ้นกับตน นี่ก็เป็นเรื่องที่ท่านจะต้องพิจารณาด้วย เพราะเหตุว่าบางทีได้ฟังเรื่องของมหาสติปัฏฐาน แล้วก็อาจจะไม่เข้าใจว่าถ้าเป็นอย่างนี้ก็คงจะไม่มีความยินดีพอใจอะไรเลย ระลึกแต่ซากศพแล้วก็หมดโลภะ โทสะ แต่ว่าไม่ใช่ลักษณะของอสุภะจะเกิดได้เพียงอย่างเดียว แต่ว่ามีเหตุปัจจัยให้คิดเรื่องอื่นด้วย


    หมายเลข 5298
    2 ส.ค. 2567