ความต่างกันระหว่างเหตุปัจจัย กับ ปกตูปนิสสยปัจจัย


    มีข้อสงสัยอะไรไหมในเรื่องนี้ เป็นเรื่องที่ไม่ยาก ปกตูปนิสสยปัจจัย เพราะเหตุว่า เป็นชีวิตประจำวัน สำหรับข้อสำคัญอีกประการหนึ่งที่ควรเข้าใจของปกตูปนิสสยปัจจัย คือ

    ประการที่ ๒ คือความต่างกันของเห-ตุปัจจัยและปกตูปนิสสยปัจจัย

    สำหรับเห-ตุปัจจัยต้องเป็นสหชาตปัจจัย คือ ปัจจัยและปัจจยุปบันนต้องเกิดร่วมกันพร้อมกัน

    เพราะฉะนั้นในขณะที่จิตเกิดขึ้นขณะนี้ ประกอบด้วยเหตุอะไร ประกอบด้วยอโลภเหตุ อโทสเหตุ อโมหเหตุ เป็นมหากุศลที่ประกอบด้วยปัญญาหรือว่าเป็นอกุศลประเภทโลภมูลจิต ไม่มีทางจะรู้ได้เลยรู้แต่ชื่อเท่านั้น ถ้าสติสัมปชัญญะไม่เกิด จะไม่รู้จักตัวจริงคือ สภาพธรรมซึ่งมีลักษณะนั้น ๆ ว่า สภาพธรรมที่เป็นโลภะมีลักษณะอย่างหนึ่งสภาพธรรมที่เป็นอโลภะตรงกันข้ามมีลักษณะอีกอย่างหนึ่งหรือสภาพที่เป็นโทสะมีลักษณะอีกอย่างหนึ่ง สภาพธรรมที่เป็นอโทสะที่ตรงกันข้าม มีลักษณะอีกอย่างหนึ่ง

    เพราะฉะนั้นสำหรับจิตซึ่งเป็นโลภะบ้าง หรือโทสะบ้าง เป็นโลภมูลจิต หรือโทสมูลจิต หรือมหากุศลจิตก็ตาม ก็เพราะเหตุ คือ เจตสิกนั้น ๆที่เป็นเหตุเกิดร่วมด้วย เช่น เมื่อจิตประกอบด้วยโลภะ เจตสิกคือโลภะเป็นเหตุปัจจัยเกิด พร้อมกับจิตใดจิตนั้นจะเป็นสภาพธรรมอื่นไม่ได้ นอกจากเป็นไปตามกำลังของโลภะ คือเป็นสภาพธรรมที่พอใจและติดในอารมณ์นั้น และเหตุปัจจัย คือ โลภเจตสิกนั้นต้องดับพร้อมกับจิตนั้น

    แต่สำหรับปกตูปนิสสยปัจจัย ไม่เป็นอย่างนั้น เพราะเหตุว่าปกตูปนิสสยปัจจัยจะไม่เกิดร่วมกับปัจจยุปบันน ไม่ใช่สหชาตปัจจัย ซึ่งถ้าไม่กล่าวถึงตัวอย่าง ก็อาจจะมองไม่เห็นชัด แต่ลองคิดดูตามธรรมดาว่า ทุกท่านเห็นสิ่งเดียวกัน แต่เพราะอะไรคนหนึ่งจึงเกิดโลภมูลจิต อีกคนหนึ่งเกิดโทสมูลจิต ต่างกันได้ จิตนั้นประกอบด้วยเห-ตุปัจจัย คนหนึ่งประกอบด้วยโลภเจตสิกเป็นโลภมูลจิต ส่วนอีกคนหนึ่งประกอบด้วยโทสเจตสิก เป็นโทสมูลจิต แม้ว่าจะเห็นสิ่งเดียวกัน

    เพราะอะไร ? เพราะปกตูปนิสสยปัจจัย คือการสั่งสมของคนที่เกิดโลภมูลจิต เคยชอบ เคยพอใจ เคยยินดีในอารมณ์นั้น แต่อีกคนหนึ่งไม่ชอบ ไม่พอใจ ไม่ติดในอารมณ์นั้น

    บางคนชอบร้อน บางคนชอบหนาว อยู่ในห้องเดียวกัน ก็ลำบากแล้วใช่ไหม คนหนึ่งก็จะเปิดหน้าต่าง อีกคนหนึ่งก็จะปิดหน้าต่าง เป็นไปตามเหตุตามปัจจัยทั้งสิ้น แต่สภาพของจิตในขณะนั้น สติสัมปชัญญะที่ระลึกจะรู้ว่าเป็นโลภมูลจิตหรือเป็นโทสมูลจิต แต่ที่จิตในขณะนั้นจะเป็นโลภมูลจิตหรือโทสมูลจิต เพราะปกตูปนิสสยปัจจัย แต่ตัวจิตซึ่งเป็นโลภมูลจิตประกอบด้วยเห-ตุปัจจัยคือ ถ้าประกอบด้วยโลภะเป็นเหตุ ก็เป็นโลภมูลจิตถ้าประกอบด้วยโทสะเป็นเหตุเกิดร่วมด้วย ก็เป็นโทสมูลจิต แต่ที่จิตในขณะนั้นจะเป็นโลภมูลจิต หรือโทสมูลจิตนั้น เพราะปกตูปนิสสยปัจจัย แต่ตัวจิตซึ่งเป็นโลภมูลจิตประกอบด้วยเห-ตุปัจจัยคือ ถ้าประกอบด้วยโลภะเป็นเหตุ ก็เป็นโลภมูลจิตแต่ที่จิตจะเป็นโลภมูลจิตหรือโทสมูลจิตนั้น แล้วแต่ปกตูปนิสสยปัจจัย

    เพราะฉะนั้นก็จะเห็นความต่างกันของเหตุปัจจัยและปกตูปนิสสยปัจจัยว่า

    สำหรับเห-ตุปัจจัยนั้น ต้องเป็นสหชาตปัจจัย คือปัจจัยและปัจจยุปบันนเกิดร่วมกันและดับพร้อมกัน

    ส่วนปกตูปนิสสยปัจจัยเป็นปัจจัยที่สะสมปรุงแต่งจนมีกำลังให้เหตุปัจจัยนั้น ๆ เกิดกับจิตในขณะนั้น ๆ


    หมายเลข 5319
    28 ส.ค. 2558