จิตรู้อารมณ์ต่างกันเพราะผัสสเจตสิกที่กระทบอารมณ์
ผู้ฟัง จิตมีหน้าที่รู้เฉยๆ รู้ต่างกันตรงที่ว่าทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ความต่างตรงนั้นต่างกันเพราะอะไร
ท่านอาจารย์ ต่างกันเพราะผัสสเจตสิกที่กระทบอารมณ์ เช่น ขณะนี้ทุกคนมีตา และ มีหู แต่ใครจะได้ยิน ในขณะที่คนอื่นไม่ได้ยิน เป็นไปได้ไหม เพราะผัสสเจตสิกกระทบอารมณ์ใด จิตก็รู้อารมณ์ที่ผัสสะกระทบ แต่ขณะนี้เราจะยังไม่ไปไกลถึงอย่างนั้น แต่ให้ทราบว่าจิตสามารถรู้อารมณ์ได้ โดยทวาร หรือทาง เช่น จิตที่กำลังนอนหลับสนิท หรือจิตขณะแรกที่เกิด รู้อารมณ์ หรือไม่
ผู้ฟัง เท่าที่ได้เรียน คือ รู้อารมณ์
ท่านอาจารย์ เพราะอะไรถึงได้บอกว่า เท่าที่เรียน รู้อารมณ์ เพราะว่าจิตเป็นสภาพรู้ เมื่อจิตเป็นสภาพรู้แล้ว เมื่อเกิดขึ้นต้องรู้ รู้สิ่งหนึ่งสิ่งใด และสิ่งที่ถูกจิตรู้ก็เป็นอารมณ์ของจิตนั้น แม้กำลังหลับสนิท แต่เหตุใดไม่ใช่ตอนตื่น ต่างกันแล้ว ใช่ หรือไม่ คนตาบอดตอนตื่นจะเห็น หรือไม่เห็น
ผู้ฟัง ไม่เห็น
ท่านอาจารย์ คนหูหนวกตื่น จะได้ยิน หรือไม่ได้ยิน
ผู้ฟัง ไม่ได้ยิน
ท่านอาจารย์ คนหูหนวกตื่นก็ไม่ได้ยิน เพราะฉะนั้นจะเห็นได้ว่าใครบังคับให้จิตเกิดขึ้นเห็น หรือจิตเกิดขึ้นได้ยินได้เอง หรือเปล่า หรือว่าต้องอาศัยปัจจัยที่ทำให้จิตประเภทนั้นๆ เกิดขึ้น พอจะเข้าใจได้ใช่ไหมว่า ถึงแม้ว่าจะเป็นจิตเป็นสภาพที่เป็นใหญ่เป็นประธาน เป็นสภาพที่รู้แจ้ง ประจักษ์ คือสามารถรู้ลักษณะของสิ่งที่ปรากฏ รู้แจ้งคือกำลังเห็นในขณะนี้ หรือว่าจิตได้ยิน ไม่สามารถจะเห็นเลย จะให้จิตได้ยินมาเห็นสิ่งที่กำลังปรากฏสีสันวรรณะต่างๆ ไม่ได้ แต่จิตได้ยินสามารถเฉพาะได้ยินเสียง ต้องอาศัยเหตุปัจจัยเช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้นจิตที่จะเกิดขึ้นก็ต้องตามเหตุตามปัจจัยด้วย ไม่ใช่ว่าจะเกิดขึ้นมาได้ลอยๆ ว่า จะให้จิตได้ยินมาทำหน้าที่เห็น ให้จิตเห็นไปทำหน้าที่ได้ยิน ก็ไม่ได้แต่เมื่อเป็นจิตเห็นในขณะนี้ ต้องอาศัยจักขุปสาทเป็นปัจจัย จักขุปสาทเป็นรูปที่อยู่กลางตา ไม่ใช่รูปตาทั้งหมด เพราะรูปตาทั้งหมด ถ้ากระทบสัมผัส ก็กระทบอ่อน หรือแข็ง เย็น หรือร้อน ซึ่งเป็นอารมณ์ที่กระทบได้เฉพาะทางกาย แต่จักขุปสาทรูปนี้ไม่มีใครสามารถเห็นได้เลย เป็นรูปที่มีลักษณะพิเศษที่สามารถกระทบสีสันวรรณะต่างๆ ได้จึงทำให้จิตเกิดขึ้นเห็น เพราะฉะนั้น ถ้าจะกล่าวว่าเหตุใด จิตเห็น เหตุใด จิตได้ยิน ก็เพราะเหตุว่ามีปัจจัยที่จะทำให้จิตนั้นๆ เกิดขึ้น
ที่มา ...