จิตจะดีหรือไม่ดีขึ้นอยู่กับเจตสิก
ผู้ฟัง จิตจะดีไม่ดีขึ้นอยู่กับเจตสิก
ท่านอาจารย์ ถูกต้อง
ผู้ฟัง จิตดูแล้วไม่มีอำนาจ
ท่านอาจารย์ ใครมีอำนาจ
ผู้ฟัง เจตสิก
อ.อรรณพ ถ้าเราจะแยกกล่าวจากเจตสิก จิตก็มีลักษณะที่บริสุทธิ์ เป็นปัณฑระ ในขณะที่อกุศลจิตเกิดเพราะมีอกุศลเจตสิก คือ พวกโมหะ โลภะ เป็นต้น ประกอบกับจิตนั้นทำให้จิตนั้นเป็นอกุศล แต่โดยสภาพของจิตเป็นสภาพรู้ที่เป็นใหญ่เป็นประธาน แต่ที่เป็นอกุศลจิตก็เพราะอกุศลเจตสิก ไม่ได้หมายความว่าตัวจิตเป็นตัวอกุศลเจตสิกเสียเอง ท่านจึงกล่าวว่าจิตโดยสภาพเป็นปัณฑระ โดยความที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้อารมณ์เท่านั้น แต่ที่เป็นกุศลจิต อกุศลจิตบ้างก็เพราะเจตสิกที่เกิดขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม จิตเป็นมนินทรีย์ เกิดขึ้นแล้วต้องรู้อารมณ์ เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้อารมณ์
ผู้ฟัง อ.อรรณพกล่าวว่าจิตเป็นปัณฑระอรรถว่าบริสุทธิ์
ท่านอาจารย์ อกุศลจิตเป็นปัณฑระ หรือไม่เป็น
ผู้ฟัง เป็น
ท่านอาจารย์ เราเปลี่ยนลักษณะของจิตไม่ได้ จิตก็คือจิต ลักษณะของจิตต้องเป็นอย่างนั้น อยู่ที่ว่าเราจะเข้าถึงอรรถ หรือเข้าใจจิตนั้นอย่างไร "ปัณฑระ" เป็นอีกชื่อหนึ่งของจิตเพราะเหตุว่าจิตเองไม่ได้เศร้าหมองไม่ได้เป็นอกุศลเลย ไม่ว่าปฏิสนธิจิตเป็นวิบากเป็นผลของกรรมที่ทำให้เกิดเป็นสัตว์เดรัจฉาน เกิดในนรก เกิดเป็นเปรต แม้อย่างนั้นปฏิสนธิจิตเป็นปัณฑระ หรือไม่เป็น เป็นปัณฑระ เพราะกล่าวถึงตัวจิต ไม่ได้กล่าวถึงเจตสิกประเภทใดๆ ที่เกิดร่วมด้วยเลย ไม่ได้กล่าวถึงชาติกุศล อกุศล วิบาก กิริยาอะไรทั้งสิ้น แต่ตัวจิต ลักษณะของจิต ต้องเข้าใจให้ถูกต้อง ถ้าเราไม่มีความเข้าใจอย่างถูกต้อง ต่อไปข้างหน้าเราจะเข้าใจธรรมผิด ไขว้เขวได้ เพราะฉะนั้นพื้นฐานสำคัญที่สุดคือ ต้องมีความเข้าใจมั่นคงยิ่งขึ้น จิตทุกประเภทเป็นปัณฑระ ปัณฑระเป็นอีกชื่อหนึ่งของจิต ผ่องใสโดยฐานะที่ว่าไม่ได้กล่าวถึงอกุศลเจตสิก หรือเจตสิกที่ดีที่งามก็ไม่ได้กล่าวถึง กล่าวถึงลักษณะเฉพาะของจิตซึ่งเป็นธาตุรู้ เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้ เมื่อใช้คำว่าธาตุรู้ เอารูปออกหมดเลย ไม่มีรูปใดๆ เจือปนเลยทั้งสิ้น ถ้าประจักษ์แจ้งอย่างนี้เมื่อไหร่ นั่นคือประจักษ์แจ้งลักษณะของธาตุรู้ หรือสภาพรู้ อกุศลจิตเป็นปัณฑระ หรือไม่เป็น ต้องเป็น จิตทุกประเภทไม่เว้น คือธรรมเป็นสิ่งซึ่งเที่ยงตรงแน่นอน ไม่เปลี่ยนแปลง ถ้ามีความเข้าใจที่ถูกต้องแล้ว ความเข้าใจนั้นก็เปลี่ยนไม่ได้
ที่มา ...