คนเกิด สัตว์เกิด เพราะจิตเกิด


    สำหรับที่ถามว่า ตายแล้วจิตไปไหน ตอนเกิด หรือตอนที่มีชีวิตอยู่ ก็เข้าใจว่ามีจิตแน่ๆ ถ้าไม่มีจิตก็ต้องไม่เห็น ไม่ได้ยิน เหมือนคนที่ตายแล้ว เพราะฉะนั้นตายแล้วจิตไปไหน จิตไม่ได้ไปไหนเลย ไม่ว่าจะยังมีชีวิตอยู่ หรือตายแล้ว จิตเกิดเพราะเหตุปัจจัยแล้วดับทันที จิตเกิดขึ้นทำกิจของจิตแต่ละประเภท ศึกษาต่อไปจะทราบว่าหน้าที่ หรือกิจการงานของจิตทุกประเภทไม่ว่าจะเป็นจิตอะไรก็ตาม จิตมีจำนวนเท่าไหร่ก็ตาม จะต้องทำกิจหนึ่งกิจใดใน ๑๔ กิจ หน้าที่ของจิตมี เกิดขึ้นทำกิจการงานแล้วก็ดับ เพราะฉะนั้นขณะที่จิตยังไม่เกิด ตาย หรือเป็น แต่ทันทีที่ คนเกิด สัตว์เกิด เพราะจิตเกิด ถ้าไม่มีจิตเกิดก็จะเป็นเพียงเนื้องอก ก้อนดิน หรือก้อนอะไรที่แข็งๆ เท่านั้น แต่ไม่ใช่สภาพรู้ เพราะฉะนั้นที่ใดก็ตามที่มีธาตุรู้ หรือสภาพรู้เกิดขึ้นเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้ ขณะนั้นเป็นลักษณะของจิต เป็นสภาพธรรมชนิดหนึ่ง ปลาตัวเล็กๆ ก็เห็น ช้างตัวใหญ่ๆ ตาเล็กแต่ก็เห็น ไม่ว่าเห็นจะอยู่ที่ไหน เมื่อไหร่ ลักษณะของเห็นใครเปลี่ยนแปลงไม่ได้ เพราะเหตุว่าลักษณะนั้นเป็นสภาพที่เกิดขึ้นรู้แจ้งสิ่งที่กำลังปรากฏตามปัจจัยในขณะนั้นๆ ที่จะเป็นลักษณะที่กำลังปรากฏขณะนั้นได้

    เพราะฉะนั้น จิตเกิดแล้วดับตามเหตุตามปัจจัย บนอากาศ นก เทวดา พรหม เห็น หรือไม่ จริงๆ แล้วเราบัญญัติเรียกว่า พรหมเห็น เทวดาเห็น มนุษย์เห็น ปลาเห็น สัตว์เห็น ตามรูปร่าง ช้างเห็น มดเห็น แต่ "เห็น" ก็คือ "เห็น" แต่เราเอารูปร่างมาใส่ว่าช้างเห็น มดเห็น แต่ลักษณะ "เห็น" ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน รูปร่างอย่างไร เราไม่คิดถึงเลย เพราะว่าลักษณะของจริงๆ ของ "เห็น" ไม่ใช่รูป เป็นสภาพธรรมที่เป็นนามธรรม เกิดขึ้น "เห็น" แล้วก็ดับ เพราะฉะนั้น ที่กล่าวว่า เกิด ก็คือ จิตเกิด ที่กล่าวว่า ตาย ก็คือจิตขณะสุดท้ายที่ดับ สิ้นสุดความเป็นบุคคลนี้เพราะจิตทำจุติกิจ ขณะแรกที่เกิด จิตไม่ได้ทำกิจเห็น ไม่ได้ทำกิจได้ยินเหมือนเดี๋ยวนี้ แต่ขณะแรกของทุกภพชาติก็คือปฏิสนธิกิจ จิตที่ทำกิจสืบต่อจากจิตขณะสุดท้ายของชาติก่อน สืบต่อโดยไม่มีระหว่างคั่นเลย เพราะฉะนั้น ทันทีที่ตายก็เกิด ทันทีที่จุติจิตดับปฏิสนธิจิตก็เกิด เพราะฉะนั้นก่อนที่จะเป็นบุคคลนี้ เราเป็นบุคคลไหน ไม่มีใครสามารถจะรู้ได้ เกิดในนรก หรือเป็นเปรต หรือเป็นอสุรกาย หรือเป็นสัตว์ประเภทหนึ่งประเภทใด หรือเป็นเทวดา หรือเป็นพรหม หรือเป็นอะไรแล้วแต่จะมีเหตุปัจจัยที่จะทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดเป็นบุคคลนี้ชั่วชาตินี้ที่จิตเกิดสืบต่อ ดำรงภพชาติความเป็นบุคคลนี้ จนกว่าจะถึงขณะจิตสุดท้าย ซึ่งไม่ได้ทำกิจเห็น ไม่ได้ทำกิจได้ยิน แต่ทำจุติกิจ พ้นสภาพคือเคลื่อนจากความเป็นบุคคลนี้ ไม่มีการที่จะกลับมาสู่ความเป็นบุคคลนี้ได้อีกเลยแม้สักนิดเดียว และกรรมหนึ่งก็ทำให้ปฏิสนธิจิตเกิดสืบต่อ เพราะฉะนั้นก็เป็นการเกิดดับสืบต่อของจิตจากชาติหนึ่งไปอีกชาติหนึ่ง ที่เรียกว่าตายแล้วเกิด

    ที่มา ...

    พื้นฐานพระอภิธรรม ตอนที่ 18


    หมายเลข 5381
    3 ธ.ค. 2567