จุดประสงค์ของการเจริญสมถภาวนา - วิปัสสนาภาวนา
ท่านอาจารย์ ไม่ได้หมายความว่า มหาสติปัฏฐานให้ไปเจริญสมถภาวนาจนกระทั่งได้ฌานจิต แล้วถึงจะเป็นวิปัสสนา ดิฉันไม่ได้บรรยายอย่างนั้น
ผู้ฟัง กระผมได้ยินเขาพูดอยู่เหมือนกันว่า ผู้ที่จะเจริญฌานจนถึงฌานจิต แล้วจึงจะเจริญวิปัสสนาต่อไป กระผมไม่เข้าใจว่า ที่พูดอย่างนี้พูดเพราะความสับสนในเรื่องของสมถะกับวิปัสสนา หรือว่าเข้าใจคลาดเคลื่อนไปอย่างไรก็ไม่ทราบ แต่เดี๋ยวนี้เอาสมถะมาปนกับวิปัสสนา อีกประการหนึ่งพระพุทธองค์ได้ทรงเจริญฌานจนถึงรูปฌาน อรูปฌาน แต่ว่าก็ไม่สามารถจะให้บรรลุคุณธรรมพิเศษอะไรได้ พระองค์จึงละจากฌานนั้นเสีย แล้วมาเจริญวิปัสสนา อย่างนี้จะว่าต่อกันก็ไม่ใช่ จะเป็นอย่างนี้ใช่หรือไม่ใช่
ท่านอาจารย์ ผู้ที่เคยเจริญฌานมาก่อนได้ฟังเรื่องของการเจริญสติปัฏฐาน แล้วก็เป็นผู้มีปกติเจริญสติเพื่อให้ปัญญารู้ชัดในลักษณะของนาม และรูป ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ที่ไม่เคยรู้ และไม่สามารถจะรู้ได้ด้วยจิตที่สงบถึงขั้นฌาณจิต เพราะเหตุว่าฌาณจิตนั้นให้จิตแน่วแน่อยู่ที่อารมณ์ที่เป็นนิมิตที่ปรากฏทางใจ ไม่ใช่เป็นการรู้ลักษณะของรูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะ หรือการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้เย็นร้อนอ่อนแข็ง การคิดนึก สุข ทุกข์ ที่เป็นปกติทุกๆ ขณะอย่างนี้ จุดประสงค์ผิดกันแล้ว เพราะฉะนั้นเวลาที่ผู้ที่เจริญสมาธิ ยังไม่ต้องถึงฌาน ทุกท่านที่เกิดความสงบของจิตใจ หรือว่าเคยอบรมสมาธิมาแล้ว ตอบได้ไหมว่าในขณะที่จิตสงบเป็นสมาธิอย่างนั้น รู้ลักษณะของเห็น ของสี ของเสียง ของได้ยิน ของกลิ่น ของรู้กลิ่น ของรส ของรู้รส ของเย็นร้อนอ่อนแข็ง ของสภาพที่รู้เย็นร้อนอ่อนแข็ง ของสุข ของทุกข์ ของคิดนึกตามปกติธรรมดา ไม่ได้เลย ก็เป็นเครื่องแสดงให้เห็นอยู่แล้วว่า จิตมุ่งให้สงบจะไม่มีการระลึกรู้ลักษณะของนาน และรูปที่กำลังปรากฏตามปกติเลย ซึ่งหนทางนั้นไม่ใช่หนทางที่จะละความไม่รู้ในลักษณะของนามรูป ไม่ใช่หนทางที่จะไม่ยึดถือนามรูปว่าเป็นตัวตน เพราะเหตุว่าไม่เกิดความรู้ในลักษณะของนาม และรูป