อสุภบรรพทำให้จิตสังเวช และสติระลึกได้
ในคราวที่แล้วที่ได้กล่าวถึงเรื่องของพระมหาติสสเถระ ซึ่งท่านไปบิณฑบาตที่เมืองอนุราธ และก็เห็นหญิงผู้หนึ่งที่โกรธกับสามีแล้วก็แต่งตัวสวยงามมากออกจากบ้านเดินไปบ้านญาติ ท่านก็สติระลึกถึงความเป็นอสุภะคือกระดูก เวลานี้เราก็เห็นตั้งหลายคน หรือว่าจะดูแต่เฉพาะคนเดียวก็ได้ ระลึกอย่างเป็นอสุภะได้ไหม ทำให้จิตสังเวช แทนที่จะเป็นโลภะก็จะทำให้เกิดสติระลึกได้ แล้วก็รู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง ขอทบทวนอีกครั้ง จากพระไตรปิฎก ที่ว่า
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อีกข้อหนึ่ง ภิกษุเหมือนกะว่า พึงเห็นสรีระที่เขาทิ้งไว้ในป่าช้า ตายแล้ววัน ๑ บ้าง ๒ วันบ้าง ๓ วันบ้าง ที่ขึ้นพอง มีสีเขียวน่าเกลียด มีน้ำเหลืองไหลน่าเกลียด เธอย่อมน้อมเข้ามาสู่กายนี้แหละว่า ถึงร่างกายอันนี้เล่าก็มีอย่างนี้เป็นธรรมดา คงเป็นอย่างนี้ ไม่ล่วงความเป็นอย่างนี้ไปได้ ดังพรรณนามาฉะนี้
ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นกาย ในกายภายในบ้าง พิจารณาเห็นกาย ในกายภายนอกบ้าง พิจารณาเห็นกาย ในกายทั้งภายในทั้งภายนอกบ้าง พิจารณาเห็นธรรม คือ ความเกิดขึ้นในกายบ้าง พิจารณาเห็นธรรม คือ ความเสื่อมในกายบ้าง พิจารณาเห็นธรรม คือ ทั้งความเกิดขึ้น ทั้งความเสื่อมในกายบ้าง ย่อมอยู่
อีกอย่างหนึ่ง สติของเธอที่ตั้งมั่นอยู่ว่า กายมีอยู่ ก็เพียงสักว่าความรู้ เพียงสักว่าอาศัยระลึกเท่านั้น เธอเป็นผู้อันตัณหา และทิฏฐิไม่อาศัยอยู่แล้ว และไม่ถือมั่นอะไรๆ ในโลก
ดูกร ภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล ภิกษุชื่อว่า พิจารณาเห็นกายในกายอยู่
อย่าละเลยโอกาสที่สติจะเกิดขึ้น ระลึกที่กายของตนเป็นภายในก็ได้ เวลาเห็นคนอื่นก็ระลึกได้ โครงกระดูกทั้งนั้นที่นั่งอยู่ที่นี่แน่นอนที่สุด ระลึกได้จริงๆ ถ้าระลึกอย่างนี้สติเกิด พิจารณาแล้วรู้ชัดตามความเป็นจริง ดีกว่าไม่ระลึกเลย กายก็เป็นเครื่องให้ระลึกได้ถึงความเป็นจริง คือ ความเป็นอสุภะ เวลานี้ยังไม่ขึ้นพอง ยังไม่เขียวน่าเกลียด น้ำเหลืองยังไม่ไหล แต่ทุกคนจะไม่พ้นสภาพอันนี้เลย ช้าหรือเร็วเท่านั้นเอง ถ้าเกิดความรู้สึกว่าจะพอใจ จะยินดีในบุคคลที่เห็น ถ้าเพียงระลึกอย่างนี้ก็สังเวช แล้วก็สลด ละความยินดีพอใจในบุคคลที่เห็นได้ ชั่วครั้งชั่วคราวก็ยังดี เพียงให้สติระลึกได้ แล้วก็รู้ชัดในสิ่งที่กำลังปรากฏ