การเจริญสติปัฏฐาน ไม่ใช่เรื่องการทำ


    อีกประการหนึ่ง ท่านที่ได้ฟังเรื่องของการเจริญสติปัฏฐาน ในหมวดของกายานุปัสสนา อาจจะเคยได้ยินได้ฟังว่า ในหมวดของอานาปานบรรพก็ดี ในหมวดของปฏิกูลมนสิการบรรพก็ดี ธาตุมนสิการบรรพก็ดี หรือว่า อสุภบรรพก็ดี ถ้าท่านเคยได้ ยินได้ฟังมาว่า จะต้องเจริญฌานเสียก่อนแล้วจึงจะยกขึ้นสู่วิปัสสนา ก็ขอให้เข้าใจด้วยว่า การเจริญสติปัฏฐานนั้นไม่ใช่สมาธิ ซึ่งสมถภาวนาหรือสมาธินั้น ทำให้เกิดสิ่งที่ไม่มีในขณะนี้ ไม่ใช่การรู้สิ่งที่กำลังปรากฏเกิดขึ้นแล้วเพราะเหตุปัจจัย นี่เป็นความต่างกันของสมาธิกับวิปัสสนา

    ถ้าเป็นสมาธิ ไม่ว่าจะโดยกัมมัฏฐานหนึ่งกัมมัฏฐานใดที่เป็นสมถภาวนาแล้ว เป็นการทำให้เกิดความสงบ ทำให้เกิดสิ่งที่ไม่มีในขณะนี้ แต่การเจริญสติปัฏฐานเป็นการระลึก เพื่อรู้ชัดในสิ่งที่กำลังปรากฏทุกๆ ขณะ ไม่ต้องไปทำให้เกิดขึ้น การเห็นขณะนี้มีแล้ว เพราะมีเหตุปัจจัยที่จะให้เห็น การได้ยินในขณะนี้ก็มีแล้ว เพราะเหตุว่ามีเหตุปัจจัยที่ทำให้ได้ยิน พรุ่งนี้ก็มีการเห็นอีก พรุ่งนี้ก็มีการได้ยินอีก มีการคิดนึก มีความสุข มีความทุกข์เกิดขึ้นอีกแน่นอนในวันพรุ่งนี้ เพราะเหตุว่า มีปัจจัยที่จะให้เกิดเห็นพรุ่งนี้ เกิดได้ยินพรุ่งนี้ เกิดทุกข์พรุ่งนี้ เพราะเหตุว่ามีปัจจัยแล้ว ไม่ต้องทำอะไร การเจริญสติปัฏฐานนั้นเป็นการระลึกแล้วรู้ชัดในลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ เพราะเกิดขึ้นแล้ว เพราะมีเหตุปัจจัยทำให้เกิดขึ้น การประพฤติธรรม การปฏิบัติธรรม คือการปฏิบัติตามคำสอนของพระผู้มีพระภาค การให้ทาน การรักษาศีล การทำจิตให้สงบ การเจริญสติปัญญา ผู้ใดประพฤติเช่นนั้นปฏิบัติเช่นนั้นก็ชื่อว่า เป็นผู้ประพฤติธรรมปฏิบัติธรรม ไม่ใช่หมายความว่าต้องไปทำ อย่างการเจริญสติปัฏฐานบางท่านไม่เข้าใจก็จะทำวิปัสสนา แต่พอเข้าใจผิดอย่างนี้ก็เลยทำไม่ถูก จะทำอย่างไร ถ้าทำวิปัสสนาทำไม่ถูก เวลานี้ใครบอกว่าให้ทำวิปัสสนาก็ทำไม่ถูกเพราะว่าจะทำ การเจริญสติต้องรู้ลักษณะของสติว่า สติเป็นสภาพที่ระลึกได้ เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นอานาปานบรรพ หรือว่าปฏิกูลมนสิการบรรพ ธาตุมนสิการบรรพ อสุภบรรพในมหาสติปัฏฐาน ไม่ใช่ไปทำให้เกิดความสงบ หรือว่าไปทำให้ฌานจิตเกิดขึ้น แต่เป็นการระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏในขณะนั้นเพื่อรู้ชัด ดังพยัญชนะที่ท่านทรงแสดงไว้ว่า

    กายมีอยู่ ก็เพียงสักว่าความรู้ เพียงสักว่าอาศัยระลึกเท่านั้น

    กายนี้หมายความถึงนามกายด้วย สติเป็นนามกาย ผู้ที่มีกายแต่ไม่รู้ลักษณะของสติ เจริญสติไม่ถูก เจริญสติไม่ได้ เพราะไม่ทราบว่า ขณะใดเป็นขณะที่หลงลืมสติ และขณะใดเป็นขณะที่มีสติ เพราะฉะนั้น ผู้ที่จะเจริญสติจะต้องทราบว่า ลักษณะของสติคือในขณะไหน ขณะที่กำลังระลึกรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ มีเห็น มีได้ยิน มีกลิ่น มีรส มีเย็น มีร้อน อ่อน แข็ง มีคิดนึก มีสุข มีทุกข์ แล้วแต่ว่าสติจะระลึกที่ลักษณะใด ตรงไหนก็ตรงนั้น นิดเดียวก็นิดเดียว แต่เมื่อระลึกแล้ว รู้ว่ากำลังพิจารณา หรือรู้ลักษณะของรูปที่ปรากฏ หรือว่ารู้ลักษณะของสภาพรู้ ทางหู หรือทางตา ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ ถ้าผู้ใดจะเจริญสติปัฏฐาน แต่ไม่รู้ลักษณะของสติ ไม่มีทางเจริญสติได้เลย เพราะฉะนั้น สติปัฏฐานเป็นการระลึกที่ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ ไม่ใช่ไปทำให้เกิดขึ้น

    ถ้าเป็น มหาสติปัฏฐาน ไม่ว่าจะเป็นอานาปานบรรพ ปฏิกูลมนสิการบรรพ ธาตุมนสิการบรรพ นวสีวถิกาบรรพ ไม่ใช่เป็นการทำให้เกิด แต่เป็นการระลึกรู้ชัดในลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ ไม่ใช่ต้องไปทำให้สงบถึงฌานจิต แล้วก็ยกขึ้นสู่วิปัสสนา

    นี่เป็นการไม่เข้าใจอรรถของพยัญชนะ ซึ่งตามธรรมดาแล้ว ปุถุชนนั้นเป็นผู้ที่หลงลืมสติ เพราะเหตุว่าเป็นผู้ที่มากด้วยกิเลส กิเลสทำให้หลงลืมสติ พระอรหันต์ไม่หลงลืมสติเพราะว่าหมดกิเลสแล้ว เมื่อยังมีกิเลสเป็นปัจจัยอยู่ ก็เป็นผู้ที่หลงลืมสติเรื่อยๆ บ่อยๆ แต่ผู้ที่ได้ฟังการเจริญสติปัฏฐาน แล้วก็เข้าใจลักษณะของสติ เวลาสติเกิดขึ้นรู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏก็รู้ เวลาที่หลงลืมสติไปก็รู้ว่า ในขณะนั้นขาดสติ

    ถ้าเป็นการรู้อย่างนี้ทีละเล็กทีละน้อย ไม่ว่าจะเคยเจริญสมาธิมาก่อน จิตน้อมไปสู่ความสงบ สติที่อบรมจนมีกำลังก็สามารถที่จะระลึกได้ว่า ลักษณะของจิตที่สงบนั้น เป็นนามธรรมชนิดหนึ่ง เป็นสภาพรู้ชนิดหนึ่ง ไม่ใช่ตัวตน แต่ไม่ใช่ไม่เคยเจริญสติปัฏฐานมาก่อนเลย แล้วเจริญสมถภาวนาจนกระทั่งจิตเป็นฌาน แล้วก็มีอัตตาตัวตนไปยกฌานขึ้นมาพิจารณาเป็นวิปัสสนา อย่างนั้นไม่ใช่


    หมายเลข 5418
    2 ส.ค. 2567